ทางพิเศษที่เปิดบริการ
ปัจจุบันการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ก่อสร้างทางพิเศษและเปิดให้บริการแล้ว 8 สายทาง และทางเชื่อมต่อทางพิเศษ 4 แห่ง รวมระยะทาง 224.60 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันได้เปิดให้บริการระบบทางพิเศษในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รายละเอียดของทางพิเศษสายต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้
1. ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ระบบทางด่วนขั้นที่ 1)
กทพ. ได้เปิดให้บริการทางพิเศษเฉลิมมหานคร เพื่อเชื่อมการคมนาคมขนส่งระหว่างภาคต่าง ๆ ของประเทศเข้าด้วยกัน โดยไม่ต้องเดินทางผ่านการจราจรหนาแน่นในใจกลางกรุงเทพมหานคร ช่วยลดปริมาณจราจรที่คับคั่งบนถนนระดับดิน รวมทั้งช่วยให้การขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือคลองเตยกับภาคต่าง ๆ เป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว มีระยะทางทั้งสิ้น 27.1 กิโลเมตร ประกอบด้วย
- สายดินแดง - ท่าเรือ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2524 ระยะทาง 8.9 กิโลเมตร แนวสายทางเริ่มจากปลายถนนวิภาวดีรังสิต มุ่งไปทางทิศใต้ ผ่านทางแยกต่างระดับมักกะสัน ผ่านถนนสุขุมวิท ช่วงนี้เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร และเป็นทางระดับดินตั้งแต่ถนนสุขุมวิทถึงถนนพระรามที่ 4 และเป็นทางยกระดับอีกครั้งในช่วงถนนพระรามที่ 4 ถึงทางแยกต่างระดับท่าเรือ เชื่อมต่อกับทางพิเศษสายดาวคะนอง - ท่าเรือ
- สายบางนา - ท่าเรือ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2526 ระยะทาง 7.9 กิโลเมตร แนวสายทางเริ่มจากปลายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 บริเวณทางแยกต่างระดับบางนา แล้วมุ่งไปทาง ทิศตะวันตก ผ่านจุดตัดทางพิเศษฉลองรัชที่ทางแยกต่างระดับสุขุมวิท ช่วงนี้เป็นทางระดับดินขนาด 6 ช่องจราจร และเป็นทางยกระดับตั้งแต่ทางแยกต่างระดับสุขุมวิทถึงทางแยกต่างระดับท่าเรือ
- สายดาวคะนอง - ท่าเรือ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2530 ระยะทาง 10.3 กิโลเมตร แนวสายทางเริ่มจากทางแยกต่างระดับท่าเรือ ผ่านทางแยกต่างระดับบางโคล่ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพระราม 9 ช่วงนี้เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร และลดช่องจราจรเหลือ 4 ช่องจราจร ตั้งแต่สะพานพระราม 9 และสิ้นสุดที่ถนนพระรามที่ 2
2. ทางพิเศษศรีรัช (ระบบทางด่วนขั้นที่ 2)
กทพ. ได้ลงนามในสัญญากับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2531 ให้เป็นผู้ก่อสร้างและบริหารทางพิเศษศรีรัช ตลอดระยะเวลา 30 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของทางพิเศษในกรุงเทพมหานครให้เป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์ ทำให้สามารถแบ่งเบาการจราจรบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร และช่วยให้การเดินทางเข้าสู่ย่านธุรกิจใจกลางเมือง มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 38.4 กิโลเมตร ประกอบด้วย 4 ส่วน ดังนี้
- ส่วน A เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2536 ระยะทาง 12.4 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ ถนนรัชดาภิเษก ผ่านบริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท (โรงกรองน้ำสามเสน) สิ้นสุดแนวสายทางที่ถนนพระราม 9 และเป็นทางพิเศษโครงข่ายในเขตเมือง
- ส่วน B เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2539 ระยะทาง 9.4 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับส่วน A บริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท (โรงกรองน้ำสามเสน) ผ่านยมราช ถนนศรีอยุธยา ถนนสาทร ถนนจันทน์ ถนนพระรามที่ 4 สิ้นสุดแนวสายทางที่บริเวณบางโคล่ เป็นทางพิเศษโครงข่ายในเขตเมือง
- ส่วน C เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2536 ระยะทาง 8 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับส่วน A บริเวณถนนรัชดาภิเษก ผ่านถนนประชาชื่น มุ่งไปทางทิศเหนือ สิ้นสุดที่ถนนแจ้งวัฒนะ เป็นทางพิเศษโครงข่ายนอกเขตเมือง
- ส่วน D ระยะทาง 8.6 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับส่วน A บริเวณถนนพระราม 9 ไปทางทิศตะวันออก สิ้นสุดที่บริเวณถนนศรีนครินทร์ เป็นทางพิเศษโครงข่ายนอกเขตเมือง เปิดให้บริการส่วนที่ 1 (ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษอโศก 1 - คลองแสนแสบ ใกล้ถนนรามคำแหง ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2541 และส่วนที่ 2 (คลองแสนแสบ - ทางต่างระดับถนนศรีนครินทร์ ระยะทาง 5.2 กิโลเมตร) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2543 โดยเปิดให้บริการตลอดสายเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2543
3. ทางพิเศษฉลองรัช (ทางด่วนสายรามอินทรา - อาจณรงค์ และทางด่วนสายรามอินทรา - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร)
ทางพิเศษฉลองรัช เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีระยะทาง 28.2 กิโลเมตร มีวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการเดินทางและแบ่งเบาการจราจรบนถนนรามอินทราและย่านใจกลางเมือง โดยไม่ผ่านถนนที่มีปัญหาการจราจรติดขัด ได้แก่ ถนนลาดพร้าว ถนนพระราม 9 ถนนเพชรบุรี และช่วยระบายการจราจรบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร สำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าหรือออกจากเมือง รวมทั้งขยายขอบข่ายของทางพิเศษให้สามารถอำนวยความสะดวกและรวดเร็วแก่การจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย 2 ช่วง ดังนี้
- รามอินทรา - อาจณรงค์ ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2539 โดยมีเส้นทางเริ่มจากถนนรามอินทรา บริเวณกิโลเมตรที่ 5.5 ลงทางทิศใต้ ข้ามถนนลาดพร้าว ถนนประชาอุทิศ ถนนพระราม 9 แล้วเบนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตัดกับทางพิเศษศรีรัช ส่วน D ข้ามถนนรามคำแหง ถนนพัฒนาการ เลียบแนวคลองตัน ข้ามถนนสุขุมวิททางด้านตะวันออกของสะพานพระโขนง ไปบรรจบกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร สายบางนา - ท่าเรือที่บริเวณอาจณรงค์ (ปลายซอยสุขุมวิท 50) ทางพิเศษฉลองรัช แบ่งช่วงการเปิดให้บริการ ดังนี้
1) ช่วงถนนรามอินทรา - ถนนลาดพร้าว เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2539
2) ช่วงถนนลาดพร้าว - ถนนพระราม 9 เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2539
3) ช่วงถนนพระราม 9 - อาจณรงค์ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2539
4) ทางแยกต่างระดับพระราม 9 (เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช ส่วน D) เปิดให้บริการ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2543
- รามอินทรา - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 เริ่มจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก บริเวณจตุโชติ ทิศใต้ของทางแยกต่างระดับลำลูกกา มุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ยกระดับข้ามถนนสุขาภิบาล 5 ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จนถึงถนนรามอินทรา บริเวณกิโลเมตรที่ 5.5 เชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชช่วงรามอินทรา - อาจณรงค์ ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของทางพิเศษฉลองรัชทางด้านเหนือ และเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2552 ได้มีพระบรมราชานุญาตให้ทางพิเศษสายนี้ใช้ชื่อทางการว่า “ทางพิเศษฉลองรัช” เช่นเดียวกับทางพิเศษช่วงรามอินทรา - อาจณรงค์
4. ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางด่วนสายบางนา - ชลบุรี)
ทางพิเศษบูรพาวิถี เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีแนวสายทางเริ่มต้นที่ปลายทางพิเศษเฉลิมมหานครบริเวณบางนา โดยใช้พื้นที่เกาะกลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 ตอนบางนา - บางปะกง ไปทางทิศตะวันออก เข้าสู่จังหวัดสมุทรปราการ ผ่านอำเภอบางพลี ตัดกับถนนกาญจนาภิเษก ผ่านอำเภอบางเสาธง อำเภอบางบ่อ แล้วเข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา ผ่านอำเภอบางปะกง ข้ามแม่น้ำบางปะกง และสิ้นสุดที่อำเภอเมืองชลบุรี เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 55 กิโลเมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 ตอนบางนา - บางปะกง และเชื่อมการคมนาคมขนส่งระหว่างกรุงเทพมหานครกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศ รวมทั้งเป็นการช่วยส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศและบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
การก่อสร้างตลอดสายแล้วเสร็จตามสัญญาในเดือนกุมภาพันธ์ 2543 โดยเปิดให้บริการในช่วงต่าง ๆ ดังนี้
- ช่วงที่ 1 บางนา - บางแก้ว เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2541
- ช่วงที่ 2 บางแก้ว - กิ่งแก้ว เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2541
- ช่วงที่ 3 กิ่งแก้ว - เมืองใหม่บางพลี เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542
- ช่วงที่ 4 เมืองใหม่บางพลี - บางเสาธง เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542
- ช่วงที่ 5 บางเสาธง - บางสมัคร เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542
- ช่วงที่ 6 บางสมัคร - บางปะกง เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2542
- ช่วงที่ 7 บางปะกง - ชลบุรี เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543
5. ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน - ปากเกร็ด)
ทางพิเศษอุดรรัถยา เชื่อมต่อจากทางพิเศษศรีรัช ส่วน C โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 อีกทั้งทำให้ระบบโครงข่ายของถนนและทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครตอนบนสมบูรณ์ขึ้น เพราะทางพิเศษอุดรรัถยาจะทำหน้าที่เป็นทางพิเศษแนวรัศมีรับปริมาณจราจรจากใจกลางเมืองมาเชื่อมกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกของกรมทางหลวง (ทล.) และยังสามารถช่วยระบายการจราจรบนถนนสายหลัก (เช่น ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนวิภาวดีรังสิต) และถนนสายต่าง ๆ ของกรมทางหลวง มีระยะทาง 32 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 แจ้งวัฒนะ - เชียงราก ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร เริ่มต้นเชื่อมต่อที่ปลายทางพิเศษศรีรัช บริเวณถนนแจ้งวัฒนะ มุ่งไปทางทิศเหนือ ผ่านเมืองทองธานี จากนั้นเข้าสู่อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 แล้วข้ามคลองเชียงราก ไปถึงบางพูน เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ก่อนที่จะลดระดับเป็นทางระดับดินขนาด 4 ช่องจราจร โดยมีรั้วกั้นตลอด จากนั้นเข้าสู่อำเภอสามโคก ตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3214 เป็นทางระดับดินขนาด 4 ช่องจราจร (ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร) ซึ่งบริเวณนี้จะมีเส้นทางแยกไปทางทิศตะวันออก เพื่อต่อเชื่อมกับถนนทางเข้ามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร จากเชียงรากไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร) ก่อสร้างแล้วเสร็จเดือนตุลาคม 2541 เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2541
- ระยะที่ 2 เชียงราก - บางไทร ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับระยะที่ 1 ที่เชียงราก เส้นทางโค้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้ามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 347 แล้วไปสิ้นสุดบริเวณกิโลเมตรที่ 79 ของถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกของกรมทางหลวงช่วงอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อสร้างเป็นทางระดับดินขนาด 4 ช่องจราจร เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2542
6. ทางพิเศษสายบางนา - อาจณรงค์ (ระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายใต้ ตอน S1)
ทางพิเศษสายบางนา - อาจณรงค์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีกับทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทำให้เป็นโครงข่ายทางพิเศษที่สมบูรณ์ ระยะทาง 4.7 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากปลายทางพิเศษฉลองรัช และซ้อนทับตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครจากทางแยกต่างระดับอาจณรงค์เชื่อมต่อกับทางพิเศษบูรพาวิถี เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2548
7. ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์)
ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์) เดิมมีชื่อว่า “ทางพิเศษสายบางพลี - สุขสวัสดิ์” ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อทางพิเศษว่า “ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์)” เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2553 เป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้างทางหลวงวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีแนวสายทางต่อเชื่อมกับทางหลวงวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านใต้ ช่วงถนนพระรามที่ 2 - ถนนสุขสวัสดิ์ เริ่มต้นจากถนนสุขสวัสดิ์บริเวณพระประแดง ผ่านสะพานกาญจนาภิเษกข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านทางแยกเชื่อมต่อกับสะพานภูมิพล ไปทางทิศตะวันออกผ่านถนนสุขุมวิท ถนนศรีนครินทร์ และถนนเทพารักษ์ ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 34 (บางนา - บางปะกง) เชื่อมต่อกับทางพิเศษบูรพาวิถีที่ทางแยกต่างระดับวัดสลุด อำเภอบางพลี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร เปิดให้บริการโดยยกเว้นการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษชั่วคราวเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 และเปิดให้บริการโดยจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษ (ช่วงบางพลี - สุขสวัสดิ์) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552
8. ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร
ทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 16.7 กิโลเมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงระบบคมนาคมและขนส่งไปยังฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโครงการต่อขยายทางพิเศษไปยังฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร เพื่อบรรเทาปัญหาด้านการจราจรและเพิ่มศักยภาพของระบบคมนาคมขนส่ง
แนวเส้นทางเริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครบริเวณใกล้โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ ไปตามแนวเขตทางรถไฟสายใต้เดิม และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 6 สิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีกลางบางซื่อ (จตุจักร) โดยเชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัชบริเวณสถานีขนส่ง (หมอชิต 2) และลงสู่ระดับดินที่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ทดสอบให้บริการโดยยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษชั่วคราวระหว่างวันที่ 15 - 17 สิงหาคม 2559 และเปิดให้บริการโดยจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559