เกี่ยวกับ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

ขั้นตอนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

รายละเอียดขั้นตอนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

1. การสำรวจที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และไม้ยืนต้น การทางพิเศษฯ จะแจ้งกำหนดวันที่เข้าทำการสำรวจเป็นหนังสือให้เจ้าของทรัพย์สินทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน
2. การกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนจะดำเนินการ โดยคณะกรรมการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้น ซึ่งเจ้าหน้าที่แต่งตั้งประกอบด้วย ผู้แทนของการทางพิเศษฯ 1 คน ผู้แทนกรมธนารักษ์ 1 คน ผู้แทนกรมที่ดิน 1 คน นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต 1 คน ผู้บริหารท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง 1 คน และผู้แทนหน่วยงานอื่นของรัฐอีก 1 คน เพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้น และเงินค่าทดแทน
3. การกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์จะกำหนดให้แก่บุคคลดังต่อไปนี้

3.1 เจ้าของที่ดินที่ต้องเวนคืน

3.2 เจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้างหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นซึ่งมีอยู่ในที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นในวันใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือพระราชกฤษฎีกาหรือได้ปลูกสร้างขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

3.3 เจ้าของต้นไม้ยืนต้นที่ขึ้นอยู่ในที่ดินในวันที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือพระราชกฤษฎีกา

3.4 ผู้เช่าหรือผู้เช่าช่วงที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นในที่ดินที่ต้องเวนคืน

3.5 บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทาง วางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้าหรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นตามมาตรา 1349 หรือมาตรา 1352 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

3.6 เจ้าของหรือบุคคลใด ซึ่งอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขาย หรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนนั้นและได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์นั้น

4. การกำหนดค่าทดแทนจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยคำนึงถึง

4.1 ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา

4.2 ราคาประเมินที่ดินของทางราชการที่กำหนดขึ้น เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

4.3 ราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

4.4 สภาพและที่ตั้งของที่ดินนั้น

4.5 เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน

5. การปิดประกาศราคาที่กำหนด เมื่อคณะกรรมการฯ ได้กำหนดราคาค่าทดแทนแล้ว จะปิดประกาศราคาไว้ตามสถานที่ที่กฎหมายกำหนด เช่น ที่ทำการของ กทพ. ศาลากลางจังหวัด หรือศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สำนักงานที่ดินจังหวัด และสำนักงานที่ดินอำเภอ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขา ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ หรือสำนักงานเขต ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล หรือที่ทำการเทศบาล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านแห่งท้องที่

6. การจัดทำสัญญาซื้อขาย เมื่อคณะกรรมการฯ ได้กำหนดค่าทดแทนแล้ว การทางพิเศษฯ จะมีหนังสือแจ้งให้เจ้าของทรัพย์สินมาทำสัญญาซื้อขาย โดยเจ้าของทรัพย์สินที่ตกลงทำสัญญาซื้อขายจะได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มอีกร้อยละสองของราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้นที่คณะกรรมการฯ กำหนด

7. ลงชื่อรับรองการให้ถ้อยคำ รับรองแนวเขตที่ดิน รับรองรายละเอียดสิ่งปลูกสร้าง และรับรองต้นไม้ยืนต้น

8. การใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อครอบครองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง

8.1 กรณีทำสัญญาซื้อขาย ถ้าเจ้าของไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เจ้าหน้าที่มีสิทธิที่จะรื้อถอนได้ตามสัญญาซื้อขาย

8.2 กรณีไม่ทำสัญญาซื้อขาย เจ้าหน้าที่จะดำเนินการวางเงิน แจ้งครอบครองและรื้อถอนตามกฎหมายต่อไป

 

สิทธิ หน้าที่ และผลประโยชน์ของผู้ถูกเวนคืน

1. อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าสำรวจ ปักหลักแนวเขตทาง

2. นำสำรวจสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ยืนต้น

3. แสดงเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หลักฐานกรรมสิทธิ์ที่ดิน (โฉนด, น.ส.3, น.ส.3 ก ฯลฯ) ทะเบียนสมรสและอื่น ๆ เช่น เอกสารแสดงรายได้จากการเช่าหรือประกอบการค้า หลักฐานการเสียภาษีหรือรายได้จากการประกอบอาชีพอันชอบด้วยกฎหมายตามที่เจ้าหน้าที่ร้องขอ

4. ให้ถ้อยคำแก่เจ้าหน้าที่ตามความจริง

5. ลงชื่อรับรองการให้ถ้อยคำ รับรองแนวเขตที่ดิน รับรองรายละเอียดสิ่งปลูกสร้าง และรับรองต้นไม้ยืนต้น

6. มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนภายใน 120 วัน นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย หาก กทพ. จ่ายเงินค่าทดแทนเกินกว่ากำหนดเวลาดังกล่าว มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว

7. ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์สำหรับการโอนที่ดินที่ถูกเวนคืน โดยให้ดำเนินการตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร

8. กรณีที่ดินติดจำนองจะต้องดำเนินการปลอดจำนองก่อนหรือได้รับความยินยอมจากผู้รับจำนองเป็นหลักฐานก่อนรับเงิน

9. หากไม่พอใจในราคาหรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการฯ กำหนด เจ้าของทรัพย์สินสามารถรับเงินไปก่อน แล้วยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับเงินจากเจ้าหน้าที่หรือรับเงินที่วางไว้ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และรัฐมนตรีจะวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นจากคณะกรรมการฯ โดยสามารถยื่นอุทธรณ์เป็นหนังสือด้วยตนเอง หรือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับที่กระทรวงคมนาคม ถนนราชดำเนินนอก แขวงโสมนัส เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร 10100

10.กรณีไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีมีสิทธิฟ้องคดีได้ แยกเป็น 2 กรณี คือ

– กรณีได้รับแจ้งผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์ภายใน ระยะเวลาตามข้อ 9 มีสิทธิฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลคำวินิจฉัย
– กรณีที่ยื่นอุทธรณ์ไว้จนระยะเวลาล่วงเลยตามข้อ 9 แล้ว แต่ยังไม่ได้รับแจ้งผลคำวินิจฉัย มีสิทธิฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลา

11.กรณีตกลงราคาหรือทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ต้องเวนคืน เจ้าของทรัพย์สินมีหน้าที่ไปแก้ไขหลักฐานทางทะเบียนหรือจดทะเบียน โดย กทพ. จะเป็นผู้ประสานงานดำเนินการกับสำนักงานที่ดิน

12.ยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินที่ถูกเวนคืนบางส่วนต่อสำนักงานที่ดินโดยค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการรังวัดแบ่งแยก กทพ. จะเป็นผู้จ่ายเอง

13.นำชี้หมุดหลักเขตที่ดิน

14.สิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนบางส่วน เจ้าของจะร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนส่วนที่เหลืออยู่ซึ่งใช้การไม่ได้แล้วด้วยก็ได้
15.ที่ดินที่ถูกเวนคืนบางส่วน ถ้าส่วนที่เหลืออยู่น้อยกว่ายี่สิบห้าตารางวา หรือด้านหนึ่งด้านใดน้อยกว่าห้าวา แม้จะมีเนื้อที่มากกว่ายี่สิบห้าตารางวาแต่ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ และที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นมิได้ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงอื่นของเจ้าของเดียวกัน หากเจ้าของร้องขอ ให้เจ้าหน้าที่จัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือด้วย
16.สิทธิขอเปิดทางเข้า-ออก กรณีที่ดินได้รับผลกระทบจากการเวนคืน

 

หากผู้ถูกเวนคืนมีข้อสงสัยประการใด สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ การทางพิเศษฯ เลขที่ 238/1-6 ถนนอโศก-ดินแดง แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์หมายเลข 0 2558 9800 ต่อ 25560-63