กทพ. จัดสัมมนาสื่อมวลชน เรื่อง “กทพ. กับการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ”

กทพ. จัดสัมมนาสื่อมวลชน เรื่อง “กทพ. กับการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ”

 

วันนี้ (๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙) เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ โรงแรมเซ็นทารา แม่สอด ฮิลล์ รีสอร์ท อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานในการเปิดงานสัมมนาสื่อมวลชน ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๙ โดยมีสื่อมวลชนทุกสาขาเข้าร่วมประมาณ ๑๐๐ คน ในการนี้ นายณรงค์ ผู้ว่าการ กทพ. ได้บรรยายถึงการดำเนินงานของ กทพ. ที่ผ่านมา พร้อมตอบข้อซักถามสื่อมวลชนร่วมกับ นายสมศักดิ์ คะวีรัตน์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก ที่ให้การต้อนรับและบรรยายพิเศษเรื่อง “การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ”.ซึ่งการสัมมนาสื่อมวลชนครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๙-๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙

นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า การจัดสัมมนาสื่อมวลชนถือเป็นกิจกรรมสำคัญกิจกรรมหนึ่งที่ กทพ. จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงานของ กทพ. ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บริหาร กทพ. กับสื่อมวลชน และ สำคัญที่สุด คือ เป็นการแสดงความขอบคุณสื่อมวลชนที่ได้ให้ความร่วมมือในการเผยแพร่ข่าวสารต่าง ๆ ของ กทพ. ไปยังประชาชนกลุ่มเป้าหมายและประชาชนทั่วไปด้วยดีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กทพ. ได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล และ กระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาเครือข่ายระบบทางพิเศษให้เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน โดยปัจจุบัน กทพ. ได้เปิดให้บริการ ทางพิเศษแล้ว ๗ สายทาง ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร,ทางพิเศษศรีรัช,ทางพิเศษฉลองรัช,ทางพิเศษอุดรรัถยา, ทางพิเศษบูรพาวิถี,ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1),ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และ ๔ ทางเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภุมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี,ทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี, ทางเชื่อมต่อเฉลิมราชดำริ ๘๔ พรรษา, ทางเชื่อมทางพิเศษศรีรัช (อโศก-ศรีนครินทร์) กับ ถ.จตุรทิศช่วง ค. รวมระยะทางกว่า ๒๐๗.๙ กิโลเมตร ซึ่ง กทพ. ปัจจุบัน มีผู้ใช้ทางพิเศษ เฉลี่ยกว่าวันละ ๑.๘ ล้านเที่ยว สูงสุดถึงวันละ ๒.๑ ล้านเที่ยว และมียอดผู้ใช้บัตร Easy Pass แล้วกว่า ๑.๑๕๕ ล้านบัตร และยังพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยการขยายโครงข่ายทางพิเศษเชื่อมโยงพื้นที่กรุงเทพมหานครด้านตะวันตกเขาสู่กลางใจเมืองด้วยโครงการทางพิเศษศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง ๑๖.๗ กิโลเมตร ซึ่งจะเปิดให้บริการในปลายเดือนสิงหาคมนี้

นอกจากนี้ การทางพิเศษฯ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมจำนวน ๘ โครงการได้แก่โครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา, โครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา – พระนครศรีอยุธยา, โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี, โครงการทางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่, โครงการทางพิเศษในจังหวัดขอนแก่น และโครงการทางพิเศษในระยะเร่งด่วน ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายพระราม ๓ – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก, โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ ๓ สายเหนือ ตอน N1 N2 N3 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก, โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต อีกทั้งยังได้วางแผนโครงการทางพิเศษเพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเตรียมพร้อมกับการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน

“สำหรับการสัมมนาในหัวข้อ “กทพ. กับการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ” นี้ เป็นการเป็นการเตรียมความพร้อมของ กทพ. ในการเข้าสู่ประชาคมอาเชียน โดยการจัดทำโครงการศึกษาความเป็นไปได้สำรวจและออกแบบทางเบื้องต้นของทางพิเศษ เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ โดยมุ่งหวังให้ทางพิเศษของไทยเป็นสี่แยกของ AEC ที่ตั้งอยู่บริเวณด่านชายแดนทั้ง ๔ ทิศ คือ ทิศเหนือที่แม่สาย ทิศตะวันตกที่แม่สอด ทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่มุกดาหาร และทิศใต้ที่สะเดา โดยบริเวณที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้ในการดำเนินการมากที่สุดในปัจจุบัน คาดว่าจะเป็นด้านทิศตะวันออก บริเวณ อ.อรัญประเทศ หรือ จ.สระแก้ว” นายณรงค์ กล่าวในท้ายที่สุด

 

ข่าว โดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักผู้ว่าการ

ขอขอบคุณภาพข่าวจาก สวพ. ๙๑ (F.M. ๙๑)

Comments are closed.