กทพ. จัดเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1)

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกแนวสายทางและรูปแบบทางขึ้น – ลงที่เหมาะสม) ในวันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน 2563 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ ห้องกัญญลักษณ์ ชั้น 3 โรงแรมโฟร์วิงส์ สุขุมวิท26 กรุงเทพมหานคร โดยมีนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดการประชุมในครั้งนี้

เนื่องจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีแผนการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพให้มีความทันสมัยในการตอบสนองทางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ โดยมีการออกแบบปรับปรุงท่าเรือกรุงเทพทางด้านตะวันตกให้เป็นท่าเรืออัตโนมัติ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภายในพื้นที่ท่าเรือ และมีการพิจารณาความเป็นไปได้ในการพัฒนาทางเชื่อมต่อกับทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) อีกทั้งสภาพการจราจรในปัจจุบันบนถนนอาจณรงค์บริเวณทางเข้าท่าเรือกรุงเทพ และถนนโครงข่ายโดยรอบท่าเรือกรุงเทพ มีปัญหาจราจรติดขัดหนาแน่น

ปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการศึกษาวางผังแม่บทการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและขนส่งสินค้าทางน้ำ รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ โดยได้วางแผนโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) กทท. จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ให้เป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯ ต่อมา กทพ. จึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ

จากการศึกษาได้มีการพิจารณาคัดเลือกแนวสายทางและรูปแบบทางขึ้น-ลงที่เหมาะสม โดยแนวสายทางของโครงการเริ่มต้นที่บริเวณทางเข้าท่าเรือกรุงเทพ ที่จะพัฒนาเป็น Terminal 3 รถบรรทุก เข้า-ออก Terminal 3 ผ่านวงเวียนแล้วขึ้นใช้ทางพิเศษ สำหรับ Terminal 1 และ 2 รถบรรทุก เข้า-ออก Terminal 1 และ 2 จะผ่านวงเวียนของ Terminal 1 และ 2 ขึ้นใช้ทางพิเศษ แนวสายทางพิเศษจะอยู่ในระดับสองของถนนอาจณรงค์ข้ามคลองพระโขนง ผ่านด้านหน้าอาคารสำนักงาน ปตท. หลังจากนั้นแนวสายทางพิเศษจะไปตามแนวทางรถไฟข้ามถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ และแยกเป็นขา Ramp เข้าเชื่อมต่อกับทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) และทางพิเศษฉลองรัช ทั้งนี้รูปแบบแนวสายทางและรูปแบบทางขึ้น-ลงของโครงการที่นำมาพิจารณา มี 3 แนวสายทาง และทางขึ้น-ลง 8 รูปแบบ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

การคัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสมของโครงการแนวสายทางที่นำมาพิจารณามี 3 แนวสายทาง ซึ่งในการคัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสมที่สุดของโครงการ ได้พิจารณาปัจจัยความเหมาะสม ทั้งทางด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจและการเงิน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยใช้วิธี Multi Criteria Analysis (MCA) ซึ่งแนวสายทางที่ 3 เป็นแนวสายทางที่มีคะแนนรวมสูงสุดของทุกปัจจัยและมีความเหมาะสมในการพัฒนา เนื่องจากแนวสายทางและ
รูปแบบวิศวกรรมรองรับการจราจรในอนาคตได้ ค่าก่อสร้างไม่สูงมากนัก ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยและพื้นที่การเวนคืนต่ำที่สุด ซึ่งการพัฒนาโครงการ
จะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนบริเวณพื้นที่โดยรอบโครงการ โดยช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณถนนอาจณรงค์ และถนนโครงข่ายโดยรอบ อีกทั้งยังช่วยให้สามารถรองรับปริมาณจราจรได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพในอนาคต

​ โดยแนวสายทางเลือกที่ 3 มีจุดเริ่มต้นโครงการที่บริเวณประตูทางเข้า-ออกท่าเรือกรุงเทพ Terminal 3 เลยทางแยกเข้าสำนักงานเขตคลองเตย (ทางพิเศษโครงการ : กม. 0+000) ทางพิเศษจะก่อสร้างเป็นโครงสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร (ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) อยู่ด้านบนและไปตามแนวถนนอาจณรงค์เมื่อผ่านบริเวณประตูทางเข้า-ออกท่าเรือกรุงเทพ Terminal 1 และ 2 จะมีทางขึ้นสำหรับรถบรรทุกจาก Terminal 1 และ 2 เข้าใช้ทางพิเศษได้ แนวสายทางเมื่อถึง กม. 1+284 จะข้ามถนนเลียบทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ และทางพิเศษจะแยกเป็นขาทางเชื่อม (Ramp) เข้าเชื่อมกับทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ประกอบด้วย ขาทางเชื่อม (Ramp) ในทิศทางไปทางพิเศษบูรพาวิถี และขาทางเชื่อม (Ramp) ทิศทางไปทางพิเศษฉลองรัชได้ ระยะทางจากจุดเริ่มต้นโครงการก่อสร้างโครงสร้างทางพิเศษ กม. 0+000 ถึงจุดแยกทางเชื่อม (Ramp) กับทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) กม. 1+284 มีระยะทาง 1,284 เมตร

📍 ขาทางเชื่อม Ramp No.1 ท่าเรือกรุงเทพ-S1 (ไปทางพิเศษฉลองรัช) มีระยะทาง 678 เมตร

📍 ขาทางเชื่อม Ramp No.2 S1-ท่าเรือกรุงเทพ (มาจากทางพิเศษฉลองรัช) มีระยะทาง 702 เมตร

📍 ขาทางเชื่อม Ramp No.3 ท่าเรือกรุงเทพ-S1 (ไปทางพิเศษบูรพาวิถี) มีระยะทาง 961 เมตร

📍 ขาทางเชื่อม Ramp No.4 S1-ท่าเรือกรุงเทพ (มาจากทางพิเศษบูรพาวิถี) มีระยะทาง 788 เมตร

การคัดเลือกรูปแบบทางขึ้น – ลง ทางพิเศษที่เหมาะสม รูปแบบทางขึ้น-ลงที่นำมาพิจารณามี 8 รูปแบบ ซึ่งได้พิจารณาปัจจัยความเหมาะสมทั้งทางด้านการจราจรและขนส่ง ด้านค่าก่อสร้าง และพิจารณาผลกระทบการใช้พื้นที่และนโยบายของ กทท. ร่วมด้วย โดยใช้วิธี Multi Criteria Analysis (MCA)

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยข้างต้นสรุปได้ว่ารูปแบบทางเลือกที่ 6 เป็นรูปแบบขึ้น-ลงทางพิเศษที่มีความเหมาะสมที่สุด โดยทางเชื่อม Terminal 1 และ 2 ออกแบบเป็นช่องทางเฉพาะสำหรับรถบรรทุกที่ออกจาก Terminal 1 และ 2 จะใช้ช่องทางเฉพาะขึ้นใช้ทางพิเศษได้โดยตรงโดยไม่ตัดกระแสจราจรบนถนนอาจณรงค์เชื่อมต่อไปยังทางพิเศษฉลองรัช และจัดการจราจรทิศทางเดียวบนถนนอาจณรงค์ของ ปตท. และ Terminal 3 ออกแบบเป็น Interchange และวงเวียน โดยรถที่ออกจาก Terminal 3 สามารถใช้ Interchange ขึ้นใช้ทางพิเศษได้โดยตรงโดยไม่ตัดกระแสจราจรบนถนนอาจณรงค์เชื่อมต่อไปยังทางพิเศษบูรพาวิถี อีกทั้งรถขาเข้าท่าเรือกรุงเทพจากทางพิเศษสามารถใช้ Interchange เข้า Terminal 3 ได้โดยตรงหรือไปเชื่อมต่อกับวงเวียนได้ ในส่วนของวงเวียนจะรองรับรถที่ไม่ได้มาจากทางพิเศษเข้าใช้วงเวียนก่อนเข้า Terminal 3 และรถที่ไม่มีความประสงค์จะใช้ทางพิเศษออกจาก Terminal 3 เข้าวงเวียนและใช้ถนนอาจณรงค์ในการเดินทางต่อไปได้

Comments are closed.