กทพ. ร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือของคณะกรรมการบูรณาการ ประสานงาน กรณีกู้ชีพฉุกเฉิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ “ให้ทาง = ช่วยชีวิต ความดีที่คุณทำได้”

เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้มอบหมายให้ นายดำเกิง ปานขำ รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้แทนเข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือของคณะกรรมการบูรณาการ ประสานงาน กรณีกู้ชีพฉุกเฉิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ “ให้ทาง = ช่วยชีวิต ความดีที่คุณทำได้” ณ อาคารรัฐสภา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กรมการขนส่งทางบก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท ขนส่ง จำกัด สถานีวิทยุ จส.100 และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย รวมทั้งสิ้น ๒๗ หน่วยงาน

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ ๑ กล่าวว่า การจัดทำแผนบูรณาการฯ ดังกล่าว เพื่อให้การกู้ชีพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการสูญเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยทุกแผนงานจะมีหน่วยงานเจ้าภาพหลักและหน่วยงานร่วมบูรณาการ ซึ่งทำงานภายใต้ทรัพยากรของแต่ละหน่วยงาน ไม่ได้มีการตั้งงบเบิกจ่ายเพิ่มเติม แต่ใช้วิธีบริหารจัดการให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม

นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่าปัจจุบันประชาชนอาจเริ่มคุ้นเคยกับการแจ้ง “เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร.1669” ซึ่งเป็นเบอร์เดียวเบ็ดเสร็จที่สามารถประสานการให้ความช่วยเหลือตั้งแต่การให้คำแนะนำปฐมพยาบาล ไปจนถึงการส่งรถพยาบาลไปรับผู้ป่วย ซึ่งในแผนการบูรณาการจะเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ เช่น การจัดหลักสูตรอบรมการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED) ที่ปัจจุบันได้มีการประกาศให้อยู่ในกลุ่มเครื่องมือปฐมพยาบาลแล้วและขณะนี้อยู่ระหว่างประสานกระทรวงศึกษาธิการบรรจุในหลักสูตรด้วย

พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. เปิดเผยว่า หนึ่งในแผนสำคัญของการจัดการจราจร คือ การเตรียมตีเส้นจราจร “ช่องทางรถฉุกเฉิน” (Emergency Lane) นำร่องในพื้นที่เขต ๘ เป็นช่องทางสำหรับรถฉุกเฉินที่จะมุ่งหน้าไป รพ.ราชวิถี เริ่มจากถนนดินแดง บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ใกล้จุดตัดถนนวิภาวดีฯ มุ่งหน้าฝั่งขาเข้า ขึ้นสะพานข้ามแยกสามเหลี่ยมดินแดง ลงถนนราชวิถี ต่อเนื่องอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เข้าไปในรพ.ราชวิถี ซึ่งผู้ใช้รถสามารถสัญจรทับเส้นประสีแดงได้ตามปกติ เมื่อรถฉุกเฉินวิ่งมา ค่อยเบี่ยงออกจากช่องทางดังกล่าวก็พอ นอกจากนี้ยังเตรียมจัดแผนให้ตำรวจจราจรขี่รถจักรยานยนต์นำรถฉุกเฉิน และ อำนวยความสะดวกสัญญาณไฟจราจรด้วย

สำหรับแผนบูรณาการ ประกอบด้วย
๑. แผนงานประชาสัมพันธ์กรณีกู้ชีพฉุกเฉิน เน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตื่นตัว กระตุ้นจิตสำนึกเช่น การ”ให้ทาง = ช่วยชีวิต ความดีที่คุณทำได้”
๒. แผนการอบรมการปฐมพยาบาลและการช่วยฟื้นคืนชีพ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ประชาชนสามารถปฏิบัติได้จริง
๓. แผนการเตรียมอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ และพื้นที่เสี่ยงเพื่อพร้อมรับการกู้ชีพฉุกเฉิน เช่นการกำหนดลักษณะของอาคาร เพื่อความปลอดภัยในการกู้ชีพ
๔. แผนการจัดการจราจรเพื่อเปิดทางให้รถฉุกเฉิน เช่น การจัดช่องทางรถฉุกเฉิน
๕. แผนพัฒนาการบริการกู้ชีพฉุกเฉิน
๖. แผนการปรับปรุงกลไกเสริม
๗. แผนการประสานและการติดตามประเมินผลร่วม

ทั้งนี้ คณะทำงานจะดำเนินงานตามแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานการกู้ชีพที่มีประสิทธิภาพต่อไป

Comments are closed.