การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ครบรอบ ๔๖ ปี

วันนี้ (๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑) เวลา ๑๐.๐๐ น. นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในงานวันคล้ายวันก่อตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ครบรอบ ๔๖ ปี โดยมี ดร.สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ. ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้าง กทพ. ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม ๒๓๐๑ สำนักงาน กทพ. จตุจักร

ดร.สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า ๔ ทศวรรษ กทพ. ได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่มุ่งเน้นในการพัฒนาเครือข่ายระบบทางพิเศษให้เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน โดยปัจจุบัน กทพ. ได้เปิดให้บริการทางพิเศษรวม ๘ สายทาง รวมระยะทาง ๒๒๔.๖ กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร

ในปีที่ผ่านมา กทพ. ได้มีการเปิดใช้ทางเชื่อมทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ ตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๑ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ทางที่ต้องการเดินทางไปยังถนนประชาชื่น งามวงศ์วาน แจ้งวัฒนะ หรือแม้กระทั่งเดินทางต่อไปยังทางพิเศษอุดรรัถยา ทำให้ลดเวลาการเดินทางจากที่ต้องใช้ถนนพื้นราบในการเดินทางไปแจ้งวัฒนะ และช่วยบรรเทาปัญหาจราจรบนถนนกำแพงเพชร ๒ ได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม ๓-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โดยเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา กทพ. ได้ลงนามในสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายดังกล่าวกับกลุ่มบริษัท เอพซิลอน จำกัด บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งจะเป็นโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทางในแนวรัศมีระหว่างกรุงเทพมหานครกับพื้นที่ทางด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจากจังหวัดในภาคใต้ให้เดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครได้อย่างสะดวกรวดเร็วและช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระรามที่ ๒ ทั้งนี้ กทพ. ถือเป็นหน่วยงานแรกที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ลดภาระหนี้สาธารณะ โดยระดมทุนผ่านกองทุน TFFIF ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเงินมาใช้ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในต้นปี ๒๕๖๒ และเปิดให้บริการได้ในปี ๒๕๖๕ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา กทพ. ยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา – อาจณรงค์ (S1) กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ พร้อมอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ รวมถึง กทพ. ยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ $ สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออกและโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ตลอดจนดำเนินการศึกษาโครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ตลอดจนศึกษาแผนแม่บททางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต อีกด้วย

นอกเหนือจากภารกิจในการแก้ไขปัญหาจราจรแล้ว กทพ. ยังมุ่งมั่นตอบแทนคืนสู่สังคม โดยดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในหลากหลายมิติ อาทิ กิจกรรม “แบ่งปันรอยยิ้ม แด่น้องริมทางด่วน” โครงการ “ทางพิเศษคู่ใจ สู้ภัยหนาว” และโครงการ “กล่องวิเศษ ทางพิเศษรักษ์โลก” รวมทั้งการจัดพื้นที่ในเขตทางพิเศษเพื่อจัดทำสวนสาธารณะ ลานกีฬาและเส้นทางลัด เป็นต้น

“กทพ. จะยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร รวมถึงลดการสูญเสียพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อช่วงเช้าวานที่ผ่านมาการทางพิเศษฯ ได้เปิดช่องทางพิเศษ (Reversible Lane) บนทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) ในทิศทางเข้าเมืองระหว่างเวลา ๐๖.๓๐-๐๙.๐๐ น. อย่างเป็นทางการ ซึ่งสามารถช่วยระบายการจราจรและอำนวยความสะดวก ในการเดินทางแก่ผู้ใช้ทางพิเศษฉลองรัชในช่วงเวลาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี” ดร.สุชาติฯ กล่าวในท้ายที่สุด

Comments are closed.