นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว. คค. รับฟังบรรยายการดำเนินการและการแก้ไขปัญหาการจราจรหน้าด่านจัดเก็บค่าผ่านทาง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับฟังบรรยายการดำเนินการและการแก้ไขปัญหาการจราจรหน้าด่านจัดเก็บค่าผ่านทาง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสมัย โชติสกุล นายพิศักดิ์ จิตวิตวิริยะวศิน และนายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายวิทยา ยาม่วง ผู้ตรวจราชการและรองโฆษกกระทรวงคมนาคม นายศราวุธ ทรงวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง โดยมี ผู้บริหารระดับสูง แบะเจ้าหน้าที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับและบรรยายสรุป ในวันที่๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ศูนย์ควบคุมทางพิเศษฉลองรัช (CCB 3)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันนี้ได้ติดตามการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยได้มีข้อสั่งการ ดังนี้
๑. ระยะเร่งด่วน
– ช่องอัตโนมัติ (Easy Pass /M Pass) มีแนวทางให้ดำเนินการยกไม้กั้นในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่ง กทพ. ได้จัดทำระบบตรวจจับรถฝ่าด่านและเรียกเก็บอัตโนมัติโดยสามารถตรวจจับ Easy Pass /M Pass ระบุป้ายทะเบียนรถ และป้องกันปัญหารถฝ่าด่าน
– ช่องเงินสด ให้ทดสอบโดยจัดเจ้าหน้าที่ประมาณ ๑๐ คน เพื่อจำหน่ายคูปองเงินสดรถที่รอต่อคิวในช่วงเวลาเร่งด่วน
ทั้งนี้ มอบให้ กทพ. ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล ก่อนลงพื้นที่ทดลองปฏิบัติ นำข้อมูลมาประมวลผล และรายงานผลการดำเนินการให้กระทรวงฯภายใน ๑ สัปดาห์

๒. ระยะยาว
ให้ใช้เทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้และพัฒนาโปรแกรม เชื่อมต่อข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม ลดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยอย่างยั่งยืน ซึ่งจะสามารถ Check in / check out และคำนวณค่าผ่านทางได้ทันที ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน ๑ ปี
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำนโยบายเรื่องความปลอดภัย ทั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ ต้องพร้อมเสมอ แถบชะลอความเร็ว รวมถึงชุดปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์ป้องกันมลภาวะ ฝุ่น ละออง
และในเวลา ๑๑.๐๐ น. ได้ทดสอบการยกไม้กั้นแล้วจับเวลารถบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ พบว่า ช่องอัตโนมัติ มีความเร็ว ๑๕ คัน/นาที และช่องเงินสด ความเร็ว ๑๒ คัน/นาที โดยพบปัญหา คือ เมื่อยกไม้กั้นขึ้น ประชาชนไม่ทราบว่าจะมีการทดสอบจึงหยุดรถสอบถาม ทำให้เกิดการจราจรติดขัด จึงมอบให้ กทพ. ประชาสัมพันธ์แผนการทดสอบผ่านสื่อต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบก่อนทำการทดสอบ ทั้งนี้ สัปดาห์หน้า กทพ. ต้องทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการก่อนจะทดสอบที่ด่านจริงในสัปดาห์ถัดไป โดยจะนำร่องที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษอโศก ๓ (ขาออก) และด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษอโศก ๔ (ขาเข้า) นอกจากนี้ พบว่าปัญหาการจราจรติดขัดส่วนใหญ่เกิดที่ช่องเงินสด และจากปัจจัยภายนอก เช่น การจราจรติดขัดที่ทางปกติ ซึ่ง กทพ. ต้องประสานกับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กทม. ตำรวจจราจร ว่าจะระบายการจราจรถนนด้านล่างอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบต่อไป

 

Comments are closed.