รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการตรวจเยี่ยมการให้บริการสะพานกลับรถบริเวณสถานีรถไฟบางบำหรุ ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก

วันนี้ (๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๒) เวลา ๑๑.๐๐ น. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการตรวจเยี่ยมการให้บริการสะพานกลับรถบริเวณสถานีรถไฟบางบำหรุ ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก โดยมี นายพุฒิกัญจน์ กาญจนะพังคะ รองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงานให้การต้อนรับ ณ สถานีรถไฟบางบำหรุ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

นายพุฒิกัญจน์ กาญจนะพังคะ รองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า “การตรวจเยี่ยมการให้บริการสะพานกลับรถบริเวณสถานีรถไฟบางบำหรุ ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกในวันนี้ เป็นโครงการก่อสร้างสะพานกลับรถทั้งสองฝั่งบริเวณสถานีรถไฟบางบำหรุ เป็นการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟเพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างทางคู่ขนานเลียบทางรถไฟ (Local Roads) ทั้งสองฝั่ง โดยปรับปรุงจากจุดกลับรถระดับดินให้เป็นสะพานกลับรถข้ามทางรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และลอดใต้ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทางยกระดับเพื่อมิให้มีจุดตัดระดับดินระหว่างถนนกับทางรถไฟ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรและอำนวยความสะดวกในการสัญจรของประชาชนในพื้นที่รวมถึงช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี

สำหรับสะพานกลับรถที่ดำเนินการก่อสร้างมีจำนวน ๒ ตำแหน่ง คือสะพานกลับรถฝั่งตะวันตก ดำเนินการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสะพานกลับรถฝั่งตะวันออก ซึ่งดำเนินการโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงปี ๒๕๖๐ และดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปัจจุบันเปิดใช้เเล้ว

สำหรับจุดกลับรถระดับดินฝั่งตะวันออกรองรับการจราจรจากถนนเทอดพระเกียรติ ถนนซอยหมู่บ้านธนากร วิลล่า ๑ ปลายด้านขาลงของสะพานกลับรถจำเป็นต้องออกแบบให้ต่อเชื่อมต่อกับสะพานทางลงของทางพิเศษฯ สะพานกลับรถฝั่งตะวันออกนี้ได้ออกแบบให้เป็นการเดินรถทิศทางเดียวจากทิศทางขาเข้าเมืองกลับรถไปทิศทางขาออกเมือง โดยออกแบบเป็นโครงสร้างสะพานขนาด ๑ ช่อง จราจร กว้าง ๔ เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง ๐.๕๐ เมตร ไหล่ ทางด้านซ้ายกว้าง ๐.๕๐ เมตร รวมเป็น ๕ เมตร ยกเว้นช่วงที่มีการเชื่อมต่อกับสะพานทางลงของทางพิเศษฯ จะมีขนาด ๓ ช่องจราจร ระยะทาง ๑๕๐ เมตร และรวบเป็น ๒ ช่องจราจรก่อนจะถึงระดับดิน ออกแบบให้มีระยะ Clearance ระหว่างทางรถไฟ ๖ เมตร และทางพิเศษฯ ๕ เมตร ซึ่งพอเพียงมีความลาดชัน ๖ – ๗ % ปรับปรุงการตีเส้นแบ่งช่องจราจรใหม่ พร้อมระบบระบายน้ำและระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง

สะพานกลับรถบริเวณสถานีรถไฟบางบำหรุฝั่งตะวันตก รับรถจากถนนรุ่งประชา ถนนสิรินธร และถนนจรัญสนิทวงศ์ ปลายด้านขาลงของสะพานกลับรถเข้าสู่ถนนเทอดพระเกียรติ ชุมชนหม่บ้านภาณุรังสี ถนนจรัญสนิทวงศ์และสะพานพระราม ๗ การก่อสร้างนี้ออกแบบให้เป็นการเดินรถทิศทางเดียว จากทิศทางขาออกเมือง กลับรถไปทิศทางขาเข้าเมือง โดยออกแบบเป็นโครงสร้างสะพานขนาด ๑ ช่องจราจร กว้าง ๔ เมตร ไหล่ทางด้านขวา กว้าง ๐.๕๐ เมตร ไหล่ทางด้านซ้าย กว้าง ๐.๕๐ เมตร รวมเป็น ๕ เมตร ซึ่งพอเพียง มีความลาดชัน ๖ – ๗ % ปรับปรุงการตีเส้นแบ่งช่องจราจรใหม่พร้อมระบบระบายน้ำและระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง รวมทั้งก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามใหม่

โดยถนนเลียบทางรถไฟในปัจจุบันปรับการเดินรถจากสองทิศทางสวนกันเป็นการเดินรถทางเดียวตลอดสายทาง ทั้ง ๒ ฝั่ง โดยมีทางกลับรถระดับดิน ๒ แห่ง ด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของสถานีรถไฟมีระยะห่างระหว่างจุดกลับรถทั้งสองแห่งประมาณ ๒.๖ กิโลเมตร ซึ่งชุมชนทั้งสองฝั่งที่อยู่ฝั่งเหนือและฝั่งใต้แนวเส้นทางรถไฟสามารถใช้เป็นทางเชื่อมระหว่างการและใช้เข้าออกถนนสิรินธรได้

ทั้งนี้ สะพานกลับรถได้เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา โดยการดำเนินโครงการใช้พื้นที่และงบประมาณของการรถไฟแห่งประเทศไทย และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานท้องถิ่น คือเทศบาลบางกรวย เป็นผู้ประสานงานบรรจบระบบไฟฟ้าของสะพานกลับรถดังกล่าว

Comments are closed.