รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจความคืบหน้าโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2

วันนี้ (18 กรกฎาคม 2563) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะฯ ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางยกระดับพระราม 2 สายธนบุรี – ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย ของกรมทางหลวงและโครงการทางพิเศษ สายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก (สัญญาที่2) ของการทาง-พิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อตรวจการดำเนินการทำงานของทั้งสองหน่วยงานในมิติต่าง ๆ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในวันนี้จะเป็นการตรวจความพร้อมในการก่อสร้างโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สาย ธนบุรี – ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัยของกรมทางหลวง ในส่วนของการจัดการจราจรในช่วงระหว่าง การก่อสร้างดังกล่าวพร้อมร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง ลดผลกระทบการจราจรติดขัด เนื่องจากบริเวณสองข้างทางของถนนพระราม 2 มีชุมชนหนาแน่นและมีปริมาณจราจรประมาณ 200,000 คัน/วัน รวมทั้ง มีสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น สถานศึกษาโรงพยาบาล นิคมอุตสาหกรรม และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ ถนนพระราม 2 ถือเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมขนส่งสู่ภาคใต้อีกด้วย

นายชาตรี ตันศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายก่อสร้างทางพิเศษ รักษาการในตำแหน่งรองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา เปิดเผยว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมทางหลวง ได้มีการบูรณาการร่วมกันในทุกมิติ ประกอบด้วย
1) มิติการออกแบบ กทพ. และ กรมทางหลวง ได้มีการบูรณาการร่วมกันในขั้นตอน การออกแบบเพื่อให้ได้รูปแบบของโครงสร้างทางยกระดับที่มีความสอดคล้องกัน โดยใช้ Precast Box Segment เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการก่อสร้าง
2) มิติการประชาสัมพันธ์ ได้มีการประชาสัมพันธ์ผู้ใช้ทางผ่านสื่อ เช่น ข่าว วิทยุ แผ่นพับ Social Media ตลอดจนติดตั้งกล้องCCTV เพื่อตรวจสอบสภาพการจราจร และติดตั้งป้าย VMS เพื่อประชาสัมพันธ์ผู้ใช้ทางหลีกเลี่ยงเส้นทาง รวมทั้งมีศูนย์ควบคุมที่มีการบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่าง กทพ. กับ กรมทางหลวง
3) มิติการบริหารงานจราจร ขณะดำเนินการก่อสร้าง กทพ. จะจัดจราจรให้ผู้ใช้ทางได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างให้น้อยที่สุด
4) มิติการบริหารและเร่งรัดงานก่อสร้าง ได้ให้ผู้รับจ้างจัดส่งแผนให้ กทพ. พิจารณาอนุมัติก่อนดำเนินการก่อสร้าง โดยมีการกำกับติดตาม เร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนด และก่อสร้างโดยเป็นไปตามรูปแบบที่หารือร่วมกันระหว่าง กทพ.กับกรมทางหลวง โดยจะพยายามก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาของสัญญา
5) มิติการบริหารพื้นที่ร่วม โดย กทพ. และ กรมทางหลวง ได้บูรณาการแผนการดำเนินงานและแผนการเข้าใช้พื้นที่สำหรับการก่อสร้าง โดยไม่เข้าทำงานพร้อมกันในบริเวณที่มีพื้นที่ทับซ้อนกัน

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด รองรับปริมาณรถที่เพิ่มสูงขึ้นเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกับพื้นที่ภาคใต้ อีกทั้ง ยังช่วยประหยัดเวลาค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้การเดินทางสู่ภาคใต้สะดวก รวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ใช้ทางขับขี่อย่างระมัดระวัง ปฏิบัติตามป้ายเตือน ป้ายแนะนำอย่างเคร่งครัด หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือแจ้งเหตุระหว่างก่อสร้างได้ที่สายด่วนกรมทางหลวง 1586 และ EXAT Call Center โทร.1543 (ตลอด 24ชั่วโมง)

 

Comments are closed.