กทพ. จัดพิธีลงนามสัญญาจ้างงานปรับปรุงทางลงทางพิเศษกาญจนาภิเษก บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางบางแก้วสัญญาจ้างติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด (Manual) ทางพิเศษบูรพาวิถีและทางเชื่อมต่อสัญญาจ้างงานออกแบบรายละเอียด โครงการทางพิเศษ สายพระราม ๓-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอ

กทพ. จัดพิธีลงนามสัญญาจ้างงานปรับปรุงทางลงทางพิเศษกาญจนาภิเษก บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางบางแก้วสัญญาจ้างติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด (Manual) ทางพิเศษบูรพาวิถีและทางเชื่อมต่อสัญญาจ้างงานออกแบบรายละเอียด โครงการทางพิเศษ สายพระราม ๓-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก

 

วันนี้ (๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙) เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ๒๓๐๑ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) สำนักงานจตุจักร พลเอก วิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการ กทพ. เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างงานปรับปรุงทางลงทางพิเศษลงกาญจนาภิเษก บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางบางแก้ว สัญญาจ้างติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด (Manual) ทางพิเศษบูรพาวิถีและทางเชื่อมต่อ และสัญญาจ้างงานออกแบบรายละเอียดโครงการทางพิเศษสายพระราม ๓ – ดาวคะนอง -วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โดยมี นายณรงค์ เขียดเดช  ผู้ว่าการ กทพ. ร่วมลงนามในสัญญาและกล่าวรายงาน

 

พลเอก วิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการ กทพ. กล่าวว่า การลงนามสัญญาทั้ง ๓ โครงการดังกล่าวนี้  เป็นการดำเนินการตามแผนงาน ๓ ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว  ประกอบด้วย ๑. โครงการปรับปรุงทางลงทางพิเศษกาญจนาภิเษกบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบางแก้ว เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ โดยเฉพาะบริเวณด่านเก็บค่าผ่านพิเศษที่จะมีปริมาณรถสะสมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของช่องเก็บค่าผ่านทางที่มีอยู่จำกัด จึงต้องมีการปรับปรุงและเพิ่มช่องเก็บค่าผ่านทางให้มากขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ ๒ ปี เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถช่วยแก้ปัญหาบริเวณด่านเก็บค่าผ่านพิเศษบางแก้วได้เป็นอย่างดี ๒. โครงการงานติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด (Manual) ทางพิเศษบูรพาวิถีและทางเชื่อมต่อ จะเป็นการปรับปรุงและพัฒนาระบบเก็บค่าทางพิเศษให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นทดแทนระบบเดิมซึ่งติดตั้งมาแล้วกว่า ๑๔ ปี จำนวนทั้งสิ้น ๑๐๑ ช่องทาง รวมทั้งปรับปรุงระบบฐานข้อมูลให้เป็น Version ล่าสุดจากเดิม Version ๗.๒.๓ เป็น Version ๑๒ เพื่อให้ผู้ใช้ทางพิเศษได้รับประโยชน์สูงสุดจากประสิทธิภาพของระบบ และ ๓. โครงการทางพิเศษสายพระราม ๓ – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก จะเป็นโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนสะพานพระราม ๙ ตลอดจนบริเวณถนนพระราม ๒ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวเสริมว่า สัญญาทั้ง ๓ สัญญา มีรายละเอียดดังนี้ สัญญาจ้างปรับปรุงทางพิเศษกาญจนาภิเษก บริเวณด่านเก็บ ค่าผ่านทางพิเศษบางแก้ว จะช่วยบรรเทาปัญหาจราจร บริเวณหน้าด่าน โดยจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับและทางระดับดินขนาด ๒ ช่องจราจร ระยะทาง ๒.๓ กิโลเมตร และก่อสร้างช่องเก็บค่าผ่านทางพิเศษเพิ่มเติมอีกจำนวน ๙ ช่องทาง คือ ทิศทางไปบางปะอิน ๖ ช่องทาง ทิศทางเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถีอีก ๓ ช่องทาง รวมถึงปรับปรุงช่องเก็บค่าผ่านทางพิเศษที่ด่านฯ ทางออกเดิม จาก ๖ ช่องทาง เป็น ๔ ช่องทาง สำหรับรถบรรทุกที่จะไปบางปะอิน รวมถึงติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษทั้งแบบเงินสดและแบบอัตโนมัติ ตลอดจนก่อสร้างอาคารที่พักพนักงาน ที่พักตำรวจ และห้องน้ำสาธารณะ โดย บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ในวงเงิน ๔๖๙,๕๐๐,๐๐๐ บาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง ๗๒๐ วัน หรือ ๒ ปี โดยประมาณ

 

สัญญาจ้างติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด (Manual) ทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อ จะเป็นการปรับปรุงและพัฒนาระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษทดแทนระบบเดิมที่เปิดใช้งานมากว่า ๑๔ ปี เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด จำนวน ๑๐๑ ช่องทาง ปรับปรุงระบบจ่ายบัตรอัตโนมัติ (ATD) ปรับปรุงระบบโปรแกรมบนอาคารด่าน จำนวน ๒๑ ด่าน รวมถึงที่ศูนย์ควบคุมทางพิเศษบูรพาวิถี (CCB 4) ทั้งนี้ บริษัท สมาร์ท แทรฟิค จำกัด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการ ในวงเงิน ๓๓๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ระยะเวลาดำเนินการ ๕๔๐ วัน

 

สัญญาจ้างออกแบบรายละเอียดโครงการทางพิเศษสายพระราม ๓-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกจะเป็นโครงการที่ช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดบนสะพานพระราม ๙ ตลอดจนทางพิเศษเฉลิมมหานครและถนนพระราม ๒ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางสู่ภาคใต้ โดยโครงการทางพิเศษสายดังกล่าวจะมี ความยาวประมาณ ๑๗ กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่ กม.10+700 ของถนนพระรามที่ ๒ ก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด ๖ ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ ๒ จนถึงดาวคะนอง จากนั้นแนวสายทางจะซ้อนทับบนทางพิเศษเฉลิมมหานครจนถึงบริเวณถนนพระรามที่ ๓ ใกล้ทางแยกต่างระดับบางโคล่ สิ้นสุดโครงการโดยบรรจบกับทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทั้งนี้ ช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะก่อสร้างสะพานขึ้นมาใหม่ ขนาด ๘ ช่องจราจร ซึ่งสะพานดังกล่าวจะช่วยระบายและแบ่งเบาการจราจรบนสะพานพระราม ๙ ในกรณีเกิดปัญหาจราจรติดขัดหรือมีความจำเป็นต้องปิดซ่อมแซมสะพาน ซึ่งมีอายุการใช้งานมาเกือบ ๓๐ ปี โดยบริษัท เอฟซีลอน จำกัด ได้รับการคัดเลือกให้เป็นที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดโครงการฯ ในวงเงิน ๖๙,๒๕๓,๒๘๙ บาท ระยะเวลาดำเนินการ ๑๐ เดือน

“การทางพิเศษฯ  จะไม่หยุดนิ่งในการพัฒนา ปรับปรุง การดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาจราจร เพื่อประโยขน์ของประเทศชาติและประชาชนต่อไป” นายณรงค์ฯ กล่าวท้ายที่สุด

 

ข่าว โดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักผู้ว่าการ

ภาพ โดย กองข้อมูลข่าวสาร สำนักผู้ว่าการ

Comments are closed.