กทพ. ชี้แจงเรื่องข้อวิจารณ์กรณีที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจ ๑๐๐%

ตามที่เอเอสทีวี ได้นำเสนอข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจของรัฐ ๑๐๐% ซึ่งจะช่วยให้รัฐวิสาหกิจมีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำประมาณ ๓-๔ % โดยรัฐบาลอ้างว่าเป็นภาระต่อหนี้สาธารณะและให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กู้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) (กองทุนรวมฯ) ซึ่งเป็นกองทุนเอกชนที่มุ่งทำกำไรจากกิจการของรัฐ โดยมองว่าการกระทำเช่นนี้ เป็นการสร้างต้นทุน ให้ภาครัฐสร้างกำไรให้เอกชนในอนาคต ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของรัฐอ่อนแอ และกำลังลุกลามไปอีกหลายรัฐวิสาหกิจนั้น

นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ขอเรียนชี้แจงว่า กทพ. มีหน้าที่ในการสร้างหรือจัดให้มีทางพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านการจราจรอันจะนำมาซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ การดำเนินการก่อสร้างทางพิเศษที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ กทพ. จะใช้วิธีการกู้เงินโดยมีรัฐบาลค้ำประกัน ทำให้มีต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ ในปัจจุบัน กทพ. มีแผนที่จะขยายโครงข่ายทางพิเศษเพื่อให้ทางพิเศษเป็นระบบที่สมบรูณ์มากยิ่งขึ้น โดยดำเนินการก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม ๓ – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ ๓ สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ในภาวะที่ประเทศมีความจำเป็นต้องลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก และยังมีภาระงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายในด้านอื่นๆ ที่ไม่สามารถหารายได้ในเชิงพาณิชย์ เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา เป็นต้น ประกอบกับรัฐบาลมองเห็นว่า กทพ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพ มีฐานะทางการเงินที่ดี การใช้กองทุนรวมฯ เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาดำเนินการก่อสร้างโครงการทางพิเศษของ กทพ. จะทำให้ กทพ. สามารถลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษได้รวดเร็วขึ้น โดยไม่เป็นภาระทางด้านการคลังกับรัฐบาลเนื่องจากไม่นับเป็นหนี้สาธารณะของประเทศ จะส่งผลให้รัฐบาลสามารถนำเงินงบประมาณและ/หรือเงินกู้ของรัฐบาลไปลงทุนในการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ได้

สำหรับต้นทุนทางการเงินในการระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ จะขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงของผู้ลงทุน ซึ่งเป็นผู้รับความเสี่ยงจากผลการดำเนินงานของโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่นำมาระดมทุน โดยรัฐบาลไม่มีภาระผูกพันตามกฎหมายในลักษณะของการกู้เงิน ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินจากการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจโดยให้รัฐบาลค้ำประกันจะมีรัฐบาลเป็นผู้รับความเสี่ยงทั้งหมดในการจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยแก่ผู้ลงทุน ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ กทพ. ได้พิจารณาร่วมกันมาโดยตลอดที่จะให้ต้นทุนทางการเงินในการระดมทุนผ่านกองทุนฯ รวมอยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระทางการเงินกับ กทพ.

Comments are closed.