กทพ. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2

วันนี้ (23กรกฎาคม 2563) เวลา 08.30น. ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร นายวิชาญ เอกรินทรากุล ที่ปรึกษาผู้ว่าการ (ด้านการบริหาร) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เป็นประธานการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 งานจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 (สายเหนือและสายใต้) กรณีโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3สายเหนือ ตอน N2เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ซึ่งเป็นการนำเสนอผลการศึกษา ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และร่างมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ

นายวิชาญ เอกรินทรากุล ที่ปรึกษาผู้ว่าการ (ด้านการบริหาร) กทพ. ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครต้องเผชิญกับปัญหาการจราจรติดขัดมาโดยตลอด ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ กทพ. ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้วางแผนก่อสร้างระบบทางพิเศษมาเป็นลำดับ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3สายเหนือ ตอน N2เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ระยะทางประมาณ 11.3 กิโลเมตร ก็เช่นกัน จะเป็นอีกหนึ่งโครงการทางพิเศษที่จะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัด โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการฯ บริเวณ กม.1+000 ของถนนประเสริฐมนูกิจ ยกระดับตามแนวตอม่อที่ก่อสร้างไว้แล้วบนเกาะกลางของถนนประเสริฐมนูกิจ ตัดผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม ทางพิเศษฉลองรัช ถนนนวมินทร์ ระยะทาง 8.1กิโลเมตร จากนั้นจะเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจจนไปสิ้นสุดโครงการฯ โดยเชื่อมต่อกับถนน-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมาหานครด้านตะวันออก ระยะทาง 3.2 กิโลเมตร

การดำเนินการโครงการฯ ในครั้งนี้ กทพ. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาให้ดำเนินงานจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 (สายเหนือและสายใต้) กรณีโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก โดยเริ่มการศึกษาตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ทั้งนี้ กทพ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยได้จัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562มีผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนาฯ ดังกล่าว จำนวน 362 คน ประกอบด้วย ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรพัฒนาภาคเอกชน สถานประกอบการ สถานศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจโครงการฯ ทั้งนี้ ในเวทีการสัมมนาฯ ครั้งที่ 1 ได้นำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการฯ ขอบเขตการศึกษา และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการฯ นอกจากนี้ยังได้จัดการประชุมกลุ่มย่อยในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องจำนวน 4 เวที มีผู้เข้าร่วมประชุมฯ รวมทุกเวที จำนวน 189 คน

ซึ่งโครงการฯ ได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้ ไปพิจารณาและนำไปสู่การวางแผนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม โดยขณะนี้การศึกษาโครงการฯ อยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างรายงานฯ และร่างมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจึงได้จัดให้มีการสัมมนาฯ ครั้งนี้ขึ้น ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาดังกล่าว ให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และร่วมกันแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ต่อโครงการฯ เพื่อให้การพัฒนาโครงการฯ สามารถดำเนินไปควบคู่กับความใส่ใจต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

Comments are closed.