กทพ. และเอสซีจี เคมิคอลส์ ขานรับนโยบาย Thailand 4.0 เปิดตัว นวัตกรรมหุ่นยนต์ตรวจสอบสายเคเบิล และกำแพงกันเสียงจากวัสดุไวนิลที่นำยางพารามาใช้ เพื่อยกระดับการบำรุงรักษาและตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม

 

 

วันนี้ (๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๐) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ร่วมกับเอสซีจี เคมิคอลส์ ขานรับนโยบาย Thailand 4.0 ด้วยการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการบำรุงรักษาและตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ล่าสุด ร่วมกันเปิดตัวผลงานจากโครงการวิจัยและพัฒนา ได้แก่ นวัตกรรมกำแพงกันเสียงจากวัสดุไวนิลที่มีส่วนประกอบของยางพารา และนวัตกรรมหุ่นยนต์ตรวจสอบสายเคเบิลสำหรับสะพานแขวน พร้อมโชว์สมรรถนะของหุ่นยนต์ตรวจสอบสายเคเบิลบนสะพานพระราม ๙

นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า โครงการที่ กทพ. ร่วมกับเอสซีจี เคมิคอลส์ และบริษัทในเครือจะนำหุ่นยนต์มาใช้ตรวจสอบสายเคเบิลสะพานพระราม ๙ นั้น นับเป็นโครงการที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือ การที่ กทพ. ใช้หุ่นยนต์ตรวจสอบสายเคเบิลถือเป็นนวัตกรรมการตรวจสอบที่ยังไม่เคยใช้มาก่อนในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญที่ กทพ. จะสามารถพัฒนาต่อไปในเรื่องการตรวจสอบทางและสะพานด้วยวิธีการที่ทันสมัยและการเก็บข้อมูลจำนวนมากเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) ซึ่ง กทพ. สามารถเป็นต้นแบบในการนำนวัตกรรมด้านการตรวจสอบมาใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับระบบการคมนาคมของประเทศในอนาคต นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน โดยการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อมาทำงานแทนคนในงานที่มีความเสี่ยงอันตราย ซึ่งจะทำให้ทั้ง กทพ. และ เอสซีจี เคมิคอลส์ เป็นองค์กรแห่งความปลอดภัย และที่สำคัญนั่นก็คือ การทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของ กทพ. และเจ้าหน้าที่ของเอสซีจี เคมิคอลส์ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่าย เช่น เจ้าหน้าที่ กทพ. จะได้เรียนรู้ระบบการตรวจสอบและซ่อมบำรุงของโรงงานปิโตรเคมี

มาตรฐานความปลอดภัยในโรงงานปิโตรเคมี ขณะเดียวกันพนักงานของเอสซีจี เคมิคอลส์ ก็ได้มีประสบการณ์ในการตรวจสอบสายเคเบิลของสะพานเช่นกัน การพัฒนาและนำหุ่นยนต์ตรวจสอบสายเคเบิลมาใช้ในการตรวจสอบสะพานพระราม ๙ นั้น ไม่เพียงแต่มีส่วนช่วยในการเก็บข้อมูลเพื่อให้ กทพ. สามารถวางแผนซ่อมบำรุงสะพานในครั้งต่อไปได้เท่านั้น แต่ยังมีส่วนพัฒนาองค์กรและบุคลากรของทั้ง กทพ. และ เอสซีจี เคมิคอลส์ ทั้งนี้ความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสององค์กร และประเทศชาติ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ตามแนวทางของรัฐบาลอีกด้วย

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-ปฏิบัติการ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า “นวัตกรรมหุ่นยนต์ตรวจสอบสายเคเบิล และชุดกำแพงกันเสียงจากวัสดุไวนิล ถือเป็นนวัตกรรมที่เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้พัฒนาต่อยอดจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เรามีความเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นในด้านวัสดุศาสตร์ การออกแบบเชิงวิศวกรรม และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดยให้บริการในรูปแบบโซลูชั่น (Solutions) ซึ่งเริ่มจากการวิเคราะห์ปัญหาของของลูกค้า และนำมาพัฒนานวัตกรรม โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้าในทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง”

“สำหรับหุ่นยนต์ตรวจสอบสายเคเบิล (Cable inspection Robot) ที่นำมาเปิดตัวในวันนี้ เราได้ออกแบบให้กับ กทพ. โดยเฉพาะเพื่อใช้ในการตรวจสอบสภาพสายเคเบิลของสะพานแขวนแทนการตรวจสอบแบบเดิม เช่น การใช้กระเช้าซึ่งมีความเสี่ยงสูง มีความละเอียดของข้อมูลจำกัด และอาจสร้างความเสียหายให้กับสายเคเบิลได้ แต่หลังจากการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของหุ่นยนต์ตรวจสอบสายเคเบิลบนสะพานพระราม 9 ร่วมกับ กทพ. พบว่า หุ่นยนต์ดังกล่าวช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และยังตรวจสอบสายเคเบิลได้ละเอียดทำให้ได้ข้อมูลแม่นยำมากขึ้น ลดระยะเวลาทำงาน ช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดกับสายเคเบิลเมื่อเทียบกับการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ และยังไม่ส่งผลกระทบต่อการจราจร ทำให้ กทพ. สามารถบริหารจัดการระบบการตรวจสอบได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

“อีกหนึ่งนวัตกรรมที่ทำงานร่วมกัน กทพ. คือ กำแพงกันเสียงจากวัสดุไวนิลเพื่อช่วยลดมลภาวะทางเสียง และป้องกันเสียงรบกวนจากถนนสู่ชุมชนที่อาศัยโดยรอบ โดยเราได้รับโจทย์จาก กทพ. ให้เน้นการพัฒนาสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีและผลิตได้ในประเทศไทย สามารถนำมารีไซเคิลได้ พร้อมทั้งนำวัตถุดิบจากเกษตรกรไทย ได้แก่ ยางพารา มาเป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิตเพื่อสนับสนุนผลผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าของเกษตรกรไทย ซึ่งบริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรม จำกัด ในกลุ่มเอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านวัสดุไวนิล ได้ออกแบบและพัฒนาชุดกำแพงกันเสียงจากวัสดุไวนิลร่วมกับ กทพ. ซึ่งพบว่า ชุดกำแพงกันเสียงดังกล่าวมีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจ สามารถช่วยกั้นเสียงได้มากกว่ามาตรฐานเดิมถึง ๔๐% สามารถรองรับการติดตั้งในทุกรูปแบบ และสามารถติดตั้งทดแทนของเดิมที่เสื่อมสภาพ หรือชำรุดเสียหายได้ นอกจากนี้ ยังนำยางพาราเป็นส่วนประกอบถึง ๔,๐๐๐ กิโลกรัม ต่อระยะทาง ๑ กิโลเมตร” นายสมชาย กล่าว

ทั้งนี้ กทพ. ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือข้อตกลงด้านการวิจัยและพัฒนากับ เอสซีจี เคมิคอลส์ เมื่อปลายปี ๒๕๕๙ ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับมาตรฐานการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม โดยเน้น ๓ นวัตกรรมหลัก ได้แก่ หุ่นยนต์ตรวจสอบสภาพสิ่งปลูกสร้างเพื่อทดแทนการทำงานของคนในพื้นที่อันตราย กำแพงกันเสียงบนสะพานด้วยพลาสติกน้ำหนักเบาแต่มีความแข็งแรงเท่าเดิม และตู้เก็บค่าผ่านทางที่ออกแบบพิเศษตามหลักสรีรวิทยา

ข่าว โดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักผู้ว่าการ
ภาพข่าว โดย กองประชาสัมพันธ์ และ กองข้อมูลข่าวสาร สำนักผู้ว่าการ

 

Comments are closed.