การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ครบรอบ ๔๕ ปี

วันนี้ (๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐) เวลา ๑๐.๐๐ น. พลเอกวิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เป็นประธานในงานวันคล้ายวันก่อตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ครบรอบปีที่ ๔๕ โดยมี นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฏหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทำการแทนในตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ. ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง กทพ. ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม ๒๓๐๑ สำนักงาน กทพ. จตุจักร


นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ ทำการแทนในตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ๔๕ ปี ที่ผ่านมา กทพ. ได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาเครือข่ายระบบทางพิเศษให้เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน โดยปัจจุบัน กทพ. ได้เปิด ให้บริการทางพิเศษรวม ๘ สายทาง ๕ ทางเชื่อมต่อ รวมระยะทาง ๒๒๔.๖ กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก และทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร โดยล่าสุด กทพ. ได้เปิดให้บริการทางลงทางพิเศษกาญจนาภิเษกที่ปรับปรุงใหม่ บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบางแก้ว เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้ทางและช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบริเวณดังกล่าว ซึ่งภายหลังจากการเปิดให้บริการพบว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านฯ บางแก้วและช่วยบรรเทาปัญหาในภาพรวมของระบบทางพิเศษได้เป็นอย่างดี


ในปีที่ผ่านมา กทพ. ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางเชื่อมจากทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานครไปยังทางพิเศษศรีรัชด้านทิศเหนือ (มุ่งไปทางแจ้งวัฒนะ) ระยะทางประมาณ ๓๖๐ เมตร เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่นบริเวณดังกล่าว โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ นอกจากนี้ กทพ. ยังได้นำนวัตกรรมกำแพงกันเสียงจากวัสดุไวนิลที่มีส่วนประกอบของยางพารามาใช้งาน เพื่อสนับสนุนการใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศตามนโยบายของรัฐบาล และนวัตกรรมหุ่นยนต์ตรวจสอบสายเคเบิลของสะพานพระราม ๙ มาใช้งานเพื่อการบำรุงรักษาและตรวจสอบโครงสร้าง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและตรวจสอบสายเคเบิลได้อย่างละเอียดแม่นยำมากขึ้น

ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม ๓-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ ๓ สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก และโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต รวมถึงดำเนินการศึกษาโครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ตลอดจนศึกษาแผนแม่บททางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต อีกด้วย

นอกเหนือจากภารกิจในการแก้ไขปัญหาจราจรแล้ว กทพ. ยังมุ่งมั่นตอบแทนคืนสู่สังคม โดยดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในหลากหลายมิติ อาทิ กิจกรรม “แบ่งปันรอยยิ้ม แด่น้องริมทางด่วน” โครงการ “ทางพิเศษคู่ใจ สู้ภัยหนาว” กิจกรรม “จิตอาสา ทางด่วนไทย” กิจกรรมวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๐ กิจกรรม “ทางด่วนเพื่อเยาวชน ประจำปี ๒๕๖๐” โครงการ “กล่องวิเศษ ทางพิเศษรักษ์โลก” โครงการ “ยุวชนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย” และโครงการ “ของดีชุมชนรอบรั้วทางพิเศษ” รวมทั้งการจัดพื้นที่ในเขตทางพิเศษเพื่อจัดทำสวนสาธารณะ ลานกีฬา และเส้นทางลัด เป็นต้น

สำหรับโอกาสครบรอบ ๔๕ ปี กทพ. ได้มอบความสุขให้แก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ โดยผู้ใช้บริการทางพิเศษสามารถสมัครใช้บัตร Easy Pass ได้เพียงแค่สำรองเงินค่าผ่านทางครั้งแรก ๕๐๐ บาท โดยไม่มีค่ามัดจำอุปกรณ์ ในระหว่างวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ ไปจนถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๑ โดยปัจจุบัน กทพ. มีผู้สมัครใช้บัตร Easy Pass แล้วจำนวนกว่า ๑.๓ ล้านบัตร

“การทางพิเศษฯ จะยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร รวมถึงลดการสูญเสียพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสรรค์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติด้วยบริการที่ดี มีความคุ้มค่า สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย อย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุทธิศักดิ์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด

ข่าว โดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักผู้ว่าการ
ภาพข่าว โดย กองข้อมูลข่าวสาร สำนักผู้ว่าการ

Comments are closed.