การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ครบรอบ ๔๗ ปี

วันนี้ (๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒) เวลา ๑๐.๐๐ น. นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในงานวันคล้ายวันก่อตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ครบรอบ ๔๗ ปี โดยมี ดร.สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ. ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง กทพ. ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม ๒๓๐๑ สำนักงาน กทพ. จตุจักร

ดร.สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า ๔ ทศวรรษ กทพ. ได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาเครือข่ายระบบทางพิเศษให้เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน โดยปัจจุบัน กทพ. ได้เปิดให้บริการทางพิเศษรวม ๘ สายทาง รวมระยะทาง ๒๒๔.๖๐ กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร

ปัจจุบันการทางพิเศษฯ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม ๓ – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซึ่งจะเป็นโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทางในแนวรัศมีระหว่างกรุงเทพมหานครกับพื้นที่ทางด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมถึงจากจังหวัดในภาคใต้ให้เดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยระดมทุนผ่านกองทุน TFFIF ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเงินมาใช้ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี ๒๕๖๕ นอกจากนี้การทางพิเศษฯ ยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา – อาจณรงค์ (S1) กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ พร้อมอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ รวมถึงโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ ๓ สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมไปยังถนนวงแหนวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก โครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ตลอดจนดำเนินการศึกษาโครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี ตลอดจนศึกษาแผนแม่บททางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น อีกด้วย

นอกเหนือจากภารกิจในการแก้ไขปัญหาจราจรแล้ว กทพ. ยังมุ่งมั่นตอบแทนคืนสู่สังคม โดยดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในหลากหลายมิติ อาทิ กิจกรรม “แบ่งปันรอยยิ้ม แด่น้องริมทางด่วน” โครงการ “ทางพิเศษคู่ใจ สู้ภัยหนาว” และโครงการ “กล่องวิเศษ ทางพิเศษรักษ์โลก” รวมทั้งการจัดพื้นที่ในเขตทางพิเศษเพื่อจัดทำสวนสาธารณะลานกีฬาและเส้นทางลัด เป็นต้น

“การทางพิเศษฯ จะยังคงมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาจราจร รวมถึงลดการสูญเสียพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง โดยการทางพิเศษฯ ได้ทดสอบการยกเลิกไม้กั้นช่องทางที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษอโศก ๓ (ออกเมือง) และ อโศก ๔ (เข้าเมือง) และจัดเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วผ่านทางหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ตามนโยบายของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้ มอบหมายให้การทางพิเศษฯ ดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจรแออัดบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ซึ่งหลังจากการทดลองมาตราการดังกล่าว พบว่าสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรแออัดบริเวณหน้าด่าน เก็บค่าผ่านทางพิเศษ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การทางพิเศษยังได้เตรียมลดค่าผ่านทางจำนวน ๕ บาท ต่อเที่ยว ใน ๖ ด่าน สำหรับผู้ใช้บัตร Easy Pass ในช่วงเวลา ๐๔.๐๐ – ๐๗.๐๐ น. ของทางด่วนขั้นที่ ๑ และ ขั้นที่ ๒ ประกอบด้วย ด่านฯดินแดง ด่านฯ ดาวคะนอง ด่านฯ บางนา ด่านฯ บางจาก ด่านฯ ประชาชื่นขาเข้า และด่านฯ อโศก ๔ เป็นระยะเวลา ๒ เดือน โดยจะเริ่มลดค่าผ่านทางตั้งแต่วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๓ เพื่อเป็นการลดความแออัดบริเวณหน้าด่าน และจูงใจให้คนหันมาชำระค่าผ่านทางด้วยระบบอัตโนมัติมากขึ้น และล่าสุดการทางพิเศษฯ ได้ร่วมกับทรู มันนี่เปิดบริการสมัครบัตร Easy Pass ผ่านแอปพลิเคชั่น TrueMoney Wallet เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้รถ โดยจะจัดส่งอุปกรณ์ Easy Pass ให้ถึงบ้านและไม่เก็บค่าธรรมเนียมบัตร ถึงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ คาดว่าจะทำให้คนมาใช้บริการเพิ่มขึ้น ๑๐ – ๑๕ % จากฐานลูกค้าของทรู มันนี่มีอยู่ประมาณ ๘.๕ ล้านคน” ดร.สุชาติฯ กล่าวในท้ายที่สุด

Comments are closed.