การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ครบรอบปีที่ ๔๔

วันนี้ (๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙) เวลา ๑๐.๐๐ น. พลเอกวิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธาน ในงานวันคล้ายวันก่อตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ครบรอบปีที่ ๔๔ โดยมี นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ กทพ. ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง กทพ. ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม ๒๓๐๑ อาคารสำนักงานใหญ่ กทพ. จตุจักร

นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ๔๔ ปี ที่ผ่านมา กทพ. ได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาเครือข่ายระบบทางพิเศษให้เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน โดยปัจจุบัน กทพ. ได้เปิดให้บริการทางพิเศษแล้ว ๗ สายทาง ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร, ทางพิเศษศรีรัช, ทางพิเศษฉลองรัช, ทางพิเศษอุดรรัถยา, ทางพิเศษบูรพาวิถี, ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1), ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และ ๔ ทางเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี, ทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี -สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี, ทางเชื่อมต่อเฉลิมราชดำริ ๘๔ พรรษา, ทางเชื่อมทางพิเศษศรีรัช (อโศก-ศรีนครินทร์) กับ ถนนจตุรทิศช่วง ค. และล่าสุด กทพ. ขยายโครงข่ายทางพิเศษเชื่อมโยงพื้นที่กรุงเทพมหานครด้านตะวันตกเข้าสู่กลางใจเมืองด้วยโครงการทางพิเศษสายศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพ มหานคร ระยะทาง ๑๖.๗ กิโลเมตร ซึ่งได้เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ รวมระยะทางทางพิเศษที่เปิดให้บริการแล้วทั้งสิ้น ๒๒๔.๖ กิโลเมตร ซึ่ง กทพ. ปัจจุบันมีผู้ใช้ทางพิเศษ เฉลี่ยวันละกว่า ๑.๘ ล้านเที่ยว สูงสุดถึงวันละ ๒.๑ ล้านเที่ยว และมียอดผู้ใช้บัตร Easy Pass แล้วกว่า ๑.๒ ล้านบัตร โดยล่าสุดเมื่อหลังเที่ยงคืนของวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ กทพ. ได้พัฒนาระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติร่วมกับกรมทางหลวงให้บัตร Easy Pass ของกทพ. สามารถเข้าไปใช้ในระบบ M-Pass ของทางหลวงพิเศษสาย ๗ และสาย ๙ ของกรมทางหลวงได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มการให้บริการแก่ผู้ใช้ทางให้ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน กทพ. มีโครงการเร่งด่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายพระราม ๓ – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ ๓ สายเหนือ ตอน N2 ช่วงจากแยกเกษตรศาสตร์ ไปเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชและทางหลวงพิเศษหมายเลข ๙ หรือ Motorway โครงการปรับปรุงทางเชื่อมต่อทางพิเศษสายศรีรัช – วงแหวนรอบนอกฯ ที่เพิ่งเปิดให้บริการกับทางพิเศษศรีรัชเดิม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการเดินทางเชื่อมต่อไปทางด้านทิศเหนือ รวมถึงโครงการทางพิเศษในต่างจังหวัดโครงการแรก คือ โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ในจังหวัดภูเก็ต

นอกจากนี้ กทพ. ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีกจำนวน ๔ โครงการ ได้แก่ โครงการพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี โครงการทางพิเศษอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา โครงการทางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ และโครงการทางพิเศษในจังหวัดขอนแก่น อีกทั้งยังได้วางแผนโครงการทางพิเศษเพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ เตรียมพร้อมกับการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อให้ประเทศไทยได้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของรัฐบาลอีกด้วย

นอกเหนือจากภารกิจในการแก้ไขปัญหาจราจรแล้ว กทพ. ยังมุ่งมั่นตอบแทนคืนสู่สังคม โดยดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในหลากหลายมิติ อาทิการจัดพื้นที่ในเขตทางพิเศษเพื่อทำสวนสาธารณะ ลานกีฬาเส้นทางลัด การมอบพื้นที่ใต้ทางพิเศษบริเวณใต้ทางพิเศษอุรุพงษ์แก่สำนักราชเลขาธิการ เพื่อจัดสร้างลานกีฬาพัฒน์ และ มอบพื้นที่ใต้ทางพิเศษฉลองรัช บริเวณรามอินทราให้แก่กระทรวงมหาดไทย เพื่อจัดทำศูนย์กระจายสินค้าโอทอป ทั้งนี้ การทางพิเศษฯ ได้มอบพื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ไปแล้วกว่า ๓๐๐,๐๐๐ ตารางวา นอกจากนี้ กทพ. ยังได้ส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชน โดยการมอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์การเรียนในโครงการจักรยานเพื่อเด็กไทย จากใจ กทพ. โครงการทางด่วนเพื่อเยาวชน โครงการแบ่งปันรอยยิ้ม แด่น้องริมทางด่วน รวมถึงให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ โดยจัดโครงการทางพิเศษคู่ใจ สู้ภัยหนาว นอกจากนี้ กทพ. ยังห่วงใยและดูแลสิ่งแวดล้อม โดยจัดโครงการให้พนักงานและผู้ใช้บริการทางพิเศษร่วมกันทำกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ เป็นประจำทุกปีอีกด้วย

“สำหรับโอกาสครบรอบ ๔๔ ปี ของ การทางพิเศษฯ ที่พิเศษไปกว่าทุกปี นั่นก็คือในปีนี้ การทางพิเศษฯ ได้จัดโครงการบรรพชาอุปสมบท นวกภิกษุ กทพ. จงรักภักดี จำนวน ๘๙ รูปเพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลอุทิศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งนวกภิกษุทั้ง ๘๙ รูป ได้เดินทางมารับบาตรที่การทางพิเศษฯ ในพิธีสงฆ์ช่วงเช้าด้วย นับเป็นความภาคภูมิใจของผู้ที่เข้าร่วมโครงการครอบครัว ตลอดจนหน่วยงานการทางพิเศษฯ เป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับการก้าวสู่ปีที่ ๔๔ การทางพิเศษฯ จะยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร รวมถึงลดการสูญเสียพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และ สิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสรรค์ และ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวมต่อไป” นายณรงค์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด

Comments are closed.