แถลงการณ์ สร.กทพ. เรื่องข้อพิพาทค่าผ่านทาง ปี ๔๖ (ฉบับที่ ๒)

กทพ. ตกเป็นเหยื่อคำใหญ่ ๒ (ตีแผ่ มติบอร์ด)

มติบอร์ดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙ มีผลอย่างไร

ชาว กทพ. และประชาชนทั้งหลายลองพิจารณาดูว่า

๑. ก่อนหน้านี้ กทพ. มีหนังสือขอความอนุเคราะห์สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการจัดพนักงานอัยการเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทำให้การดำเนินการของสำนักงานอัยการสูงสุดต้องชะงักลง เนื่องจากบอร์ดได้เปลี่ยนจุดยืนกระทันหัน กลับมาจ่ายเงินตามอนุญาโตตุลาการ

ต่อมาผู้นำระดับสูงของ กทพ.ได้แจ้งต่อพนักงานว่า ไม่ได้ถอนเรื่องขอความอนุเคราะห์สำนักงานอัยการสูงสุดคืนกลับมา แต่มติบอร์ดดังกล่าวก็นับว่า สร้างความสับสนให้สำนักงานอัยการสูงสุดในการจะดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มติบอร์ดได้กลายเป็นเครื่องมือในการสกัดกั้นการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเสียเอง

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง หากจะให้มีผลในการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง กทพ. จะต้องมีหนังสือขอความอนุเคราะห์อีกครั้ง ลงนามโดยผู้มีอำนาจในการลงนามผูกพันในฐานะองค์กร กทพ. เพื่อยืนยันความประสงค์ที่แท้จริงขององค์กร

๒.จากการจัดตั้งคณะผู้แทนเพื่อหารือ เพื่อหาแนวทางในการยุติเกี่ยวกับข้อพิพาทกรณีดังกล่าวกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ปรากฏว่ามติบอร์ดได้เห็นชอบการหารือเบื้องต้นดังกล่าวในครั้งนี้ และยังเร่งรัดให้ กทพ. เดินหน้าเจรจาต่อไปจนได้ข้อยุติทั้งหมด เป็นเครื่องยืนยันเจตนารมณ์ของบอร์ดว่า ไม่ได้ประสงค์จะต่อสู้ในศาลปกครองกลางอย่างแท้จริงมาแต่แรก ยิ่งกว่านั้น ผลการเจรจาจะเป็นประการใดย่อมขึ้นอยู่กับผู้เจรจาทั้งสองฝ่าย เมื่อการเจรจามีเป้าหมายในการยุติข้อพิพาทย่อมเป็นที่จับจ้องถึงความโปร่งใสของการเจรจา เนื่องจากเกี่ยวพันถึงผลประโยชน์จำนวนมหาศาลทั้งจำนวนที่อนุญาโตตุลาการมีคำตัดสิน ๘,๑๐๐ ล้าน และจำนวนที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกในอนาคตจากเหตุเดียวกัน รวมมูลค่าประมาณ ๒๙,๐๐๐ ล้านบาท เป็นสิ่งที่สังคมควรจับตามองเป็นพิเศษชนิดตาไม่กระพริบตา

๓. มติบอร์ดยังได้ระบุอีกว่า เข้าใจเจตนารมณ์ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย แต่ไม่สามารถปฏิบัติตามความเห็นได้ ซึ่งประเด็นนี้ แม้ต่อมาประธานบอร์ดจะได้แสดงเหตุผลต่อพนักงานว่า กทพ. เป็นฝ่ายแพ้ในการตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ (ก็ดี) กรรมการชี้ขาด (กระทรวงการคลัง อัยการสูงสุด กฤษฎีกา ฯลฯ) ได้ยืนยันแล้ว (ก็ดี) เป็นเพียงข้ออ้างในการไม่นำเรื่องเข้าสู่ศาลปกครองกลางเท่านั้น

สามารถกล่าวเช่นนี้ได้เพราะความเห็นเหล่านั้นเป็นเพียงข้อมูลประกอบการตัดสินใจของบอร์ดเท่านั้น มิได้มีผลเป็นคำสั่งหรือนโยบายที่บังคับให้คณะกรรมการ กทพ. ต้องปฏิบัติตาม เนื่องจาก กทพ.เป็นหน่วยงานนิติบุคคลที่มีบอร์ด กทพ. เท่านั้น จึงจะเป็นผู้ตัดสินใจและรับผิดชอบในผลของการตัดสินใจการไม่นำเรื่องเข้าสู่ศาลปกครองกลางมีผลทำให้ กทพ. ต้องจ่ายทันที ๘,๑๐๐ ล้านบาท แล้วยังมีผลต่อเนื่องอีกอย่างดังเช่น

– กทพ. ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการปรับค่าผ่านทางกรณีอื่นที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ (ปี ๒๕๕๑ และ ๒๕๕๖)

– มีผลทำให้เกิดการรับรองวิธีการคิดคำนวณขึ้นค่าผ่านทางตามแนวทางของบริษัทเอกชนทุกประการ ประชาชนต้องจ่ายค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นทันที

– กทพ. ต้องรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มแทนประชาชน เพิ่มขึ้นจากที่รับภาระอยู่ในปัจจุบันตามผลของการปรับอัตราค่าผ่านทางตามเอกชน

– กทพ. ต้องแลกด้วยการให้ต่ออายุสัมปทานแก่ BEM เป็นระยะเวลาถึง ๙ ปี โดยเงินค่าผ่านทางทั้งหมดในระยะเวลา ๙ ปี ตกเป็นของบริษัทเอกชน BEM ซึ่งอาจมีมูลค่ารวมสูงกว่าค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ยของทุกกรณีรวมกันเสียอีก

– รัฐบาลต้องรับภาระค้ำประกันเงินกู้ที่ กทพ. ต้องกู้มาจ่ายคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยผลแห่งมติคณะกรรมการ กทพ.

๔. การที่บอร์ด มีมติเข้าใจเจตนารมณ์ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย แต่ไม่สามารถปฏิบัติตามความเห็นได้นั้น เมื่อพิจารณาดูการกระทำแล้วไม่มีพฤติกรรมใดที่แสดงว่าบอร์ดเข้าใจเจตนาของ สร.กทพ. และพนักงาน ในทางกลับกันกลับปรากฏต่อสื่อทำนองว่า พนักงานเคลื่อนไหวคัดค้านเพราะกลัวผลกระทบด้านรายได้และโบนัส สะท้อนถึงความคับแคบในจิตใจและการมุ่งร้ายทำลายความน่าเชื่อถือของผู้คัดค้าน แท้จริงแล้วพนักงานทุกคนทราบดีว่า การที่เอกชนได้ขึ้นค่าผ่านทางสูงขึ้นฉันใด ย่อมทำให้ กทพ.ได้รับรายได้ จากค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นด้วยฉันนั้น เนื่องจากรายได้ของ กทพ.และทำให้ทั้งพนักงานและบอร์ดได้ประโยชน์ด้วยซ้ำไป แต่ถึงกระนั้น บอร์ดก็หาได้เฉลียวใจไม่ ว่าเหตุที่แท้จริงในการคัดค้านการขึ้นค่าผ่านทางนั้นคืออะไร

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ทุกท่านคงตระหนักดีถึงสาเหตุที่แท้จริงและสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองว่าจะร่วมกันคัดค้านมติคณะกรรมการ กทพ. เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙ หรือไม่อย่างไร

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

Comments are closed.