แถลงการณ์ สร.กทพ. เรื่องข้อพิพาทค่าผ่านทาง ปี ๔๖ (ฉบับที่ ๑)

หลังจากอนุญาโตตุลาการมีคำตัดสินให้ กทพ. เป็นฝ่ายแพ้ ต้องจ่ายเงินให้ BEM ๘,๑๐๐ ล้านบาท จากกรณีที่ กทพ. ไม่ขึ้นค่าผ่านทางตามที่ BEM (BECL เดิม) ร้องขอตามสัญญา ซึ่งตีความวิธีคำนวณการขึ้นค่าผ่านทางไม่ตรงกัน และเป็นปัญหาข้อพิพาทตลอดมานั้น

คณะกรรมการ กทพ. ได้มีมติให้ กทพ. เสนอ ค.ร.ม. เพื่อดำเนินการตามที่อนุญาโตตุลาการตัดสิน โดยยังไม่ได้ต่อสู้ในชั้นศาล (และดูเหมือนว่า BEM ได้ยื่นข้อเสนอทำนองมีส่วนลดให้ หาก กทพ. ชำระเสร็จสิ้นทั้งหมดภายในกรอบเวลา หรือให้ผ่อนชำระ หรือแลกกับการขยายอายุสัมปทานทางพิเศษศรีรัชอีก ๙ ปี)

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) เห็นว่า กรณีนี้จะเป็นตัวอย่างอ้างอิงให้กับคำตัดสินข้อพิพาทอื่นในทำนองเดียวกัน ซึ่งจะก่อความเสียหายย่อยยับในปัจจุบันและอนาคตแก่องค์กร รัฐบาล และประชาชน

ที่ผ่านมา กทพ. ตัดสินใจขึ้นค่าผ่านทางน้อยกว่าที่เอกชน (BECL) ขอมา โดยตีความสัญญาภายใต้กรอบความเห็นทางกฎหมายของส่วนราชการ โดยยึดหลักเหตุผล ข้อสัญญา และประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเอกชน (BECL) เห็นต่างออกไป จึงเกิดข้อพิพาทสู่อนุญาโตตุลาการ

อย่างไรก็ตาม กระบวนการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด กล่าวคือ กรณีที่ กทพ. ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ กทพ. สามารถยื่นคำคัดค้านต่อศาลปกครองได้ภายใน ๙๐ วัน แต่คณะกรรมการ กทพ. ไม่ได้มีมติเช่นนั้น กลับให้นำเสนอ ค.ร.ม. เพื่อขอให้ กทพ. ดำเนินการตามคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการโดยเร็ว จึงเป็นที่กังขาโดยทั่วไปแก่พนักงาน

สร.กทพ. เห็นว่า

๑. กทพ. ควรต่อสู้ตามกระบวนการจนถึงที่สุด เพราะการจ่ายเงินใดๆ จำนวนมหาศาลจากองค์กรของรัฐ ควรเป็นไปโดยโปร่งใส และ สร.กทพ. เชื่อว่าการขึ้นค่าผ่านทางที่ผ่านมา กทพ. ได้ดำเนินการเป็นไปตามข้อสัญญาโดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวมต่อไป มิได้คำนึงถึงผลกำไรเป็นหลัก เฉกเช่นองค์กรเอกชน

๒. การยอมจำนนโดยง่ายต่อเอกชนผู้รับสัมปทาน ย่อมไม่ใช่วิสัยของหน่วยงานรัฐที่จัดหาบริการสาธารณะแก่ประชาชน การขึ้นค่าผ่านทางหรือบริการใดๆ ในอนาคตจะตกเป็นภาระโดยตรงแก่ประชาชนที่ใช้บริการโดยไม่เป็นธรรม ยังไม่นับรวมถึงภาระของรัฐบาล (คือภาระของประชาชน) ในการค้ำประกันการกู้ยื้มเพื่อชำระหนี้จำนวนที่อนุญาโตตุลาการกล่าวถึง

๓. สร.กทพ. เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภัยร้ายแรงต่อความเชื่อมั่นและความยั่งยืนขององค์กร กทพ. ในระยะยาว ไม่เป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะประชาชน ผู้ใช้บริการ และภาครัฐ ทำให้องค์กรกลายเป็นช่องทางในการทำกำไรของเอกชน

กทพ. เป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยกฎหมายแห่งรัฐ มีหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะแก่ประชาชน ดังนั้น ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าว สร.กทพ. และพนักงานอื่น จึงจำเป็นต้องออกมาคัดค้านการตัดสินใจของคณะกรรมการ กทพ.

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

Comments are closed.