ภาพรวม กทพ. กับการดูแลสิ่งแวดล้อม

ภาพรวม กทพ. กับการดูแลสิ่งแวดล้อม

การดำเนินงานดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเขตทางพิเศษ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ กทพ. นั้น กทพ. ได้วางแผนเพื่อควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้อยู่ภายใต้มาตรฐานที่กำหนดไว้ในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน ตั้งแต่ก่อนการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และภายหลังเปิดดำเนินโครงการ โดยการดูแลสิ่งแวดล้อมของ กทพ. สรุปได้ดังนี้

1. ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001

กทพ. ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้นำทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ และทางพิเศษบูรพาวิถี เข้าสู่มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานในการควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติภัยอย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับ กทพ.

2. รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการทางพิเศษของ กทพ.

กทพ. ได้มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการทั้งในด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทางพิเศษตั้งแต่ในขั้นตอนของการวางแผนโครงการ โดยในส่วนของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น กทพ. มีการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment, EIA) เพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโครงการ ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งในระยะก่อนก่อสร้าง ระยะก่อสร้าง และภายหลังเปิดดำเนินโครงการ

3. การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Monitoring EIA)

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากทางพิเศษตามที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในระยะก่อสร้าง ประกอบด้วย ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันตก และระยะดำเนินการ ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) มาอย่างต่อเนื่อง และจัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA ส่งให้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

4. งานดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมของทางพิเศษ

กทพ. ได้ทำการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษและอาคารสำนักงานของ กทพ. ได้แก่ ฝุ่นละออง ระดับเสียง เป็นต้น เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลต่อพนักงานและผู้ใช้ทาง กทพ. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินโครงการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษและอาคารสำนักงานของ กทพ. มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการดำเนินงานได้แจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

5. การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของ กทพ.

กทพ. ได้ดำเนินการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กำหนด โดยมีแนวคิดในการสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการให้มากขึ้น ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและลดการปล่อยมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง กทพ. ได้ดำเนินการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของ กทพ. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 จนถึงปัจจุบัน