การบำรุงรักษาทางพิเศษ

          ทางพิเศษ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบทางพิเศษ จะได้รับการบำรุงรักษา เพื่อรักษาระดับการให้บริการที่ดีแก่ผู้ใช้ทางพิเศษโดยการบำรุงรักษาแบบเชิงป้องกัน (Preventive maintenance) เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น และการบำรุงรักษาแบบแก้ไข (Corrective maintenance) ในกรณีที่เกิดความเสียหาย
          ภารกิจหลักในการบำรุงรักษาทางพิเศษ คือ การตรวจสอบ และการบำรุงรักษา ซ่อมแซมทางพิเศษ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบทางพิเศษ
ส่วนประกอบของโครงสร้างทางพิเศษ
          ส่วนของโครงสร้างที่รับน้ำหนักยานพาหนะของผู้ใช้ทางโดยตรง ได้แก่ พื้น คาน เสา ตอม่อ และส่วนประกอบอื่นๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวก และให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทาง เช่น กำแพงกันตก กำแพงกันเสียง ป้ายจราจร โทรศัพท์ฉุกเฉิน และไฟฟ้าส่องสว่าง
          กทพ. ได้แบ่งหมวดหมู่ส่วนประกอบโครงสร้างทางพิเศษตามงานบำรุงรักษาออกเป็นส่วนๆ ดังนี้
โครงสร้างสะพาน ประกอบด้วย
- โครงสร้างส่วนบน (Superstructure) ได้แก่ พื้นสะพาน คานรับพื้นสะพาน ผิวจราจร รอยต่อผิวจราจร
- โครงสร้างส่วนล่าง (Substructure) ได้แก่ แผ่นรองคาน ตอม่อ ฐานราก
โครงสร้างระดับดิน ได้แก่ ผิวจราจร และคันทาง
โครงสร้างเหล็ก ได้แก่ สะพานพระราม ๙ และสะพานรถยนต์เพิ่มเติม Site ๑, ๒, ๓
โครงสร้างอื่นๆ ได้แก่ กำแพงกันเสียง กำแพงกันตก รั้ว ระบบระบายน้ำ ป้ายจราจร ไฟฟ้าสายทาง อุปกรณ์เก็บค่าผ่านทาง ระบบโทรศัพท์ฉุกเฉิน กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ป้ายเปลี่ยนข้อความได้ (VMS) และ ป้ายควบคุมการจราจรตามช่องทาง (Matrix Sign)
การตรวจสอบทางพิเศษ
          ๑. การตรวจสอบรายวัน (Daily inspection) ตรวจสอบสภาพส่วนประกอบต่างๆของทางพิเศษ เช่น การเปลี่ยนรูปของผิวจราจรรอยต่อ การแตกของกำแพงกันตก การบิดเบี้ยวของราวเหล็ก ป้ายจราจร  การติด-ดับของไฟฟ้าส่องสว่างความผิดปกติในการทำงานของอุปกรณ์เก็บค่าผ่านทาง ระบบโทรศัพท์ฉุกเฉินกล้อง โทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เป็นต้น เป็นประจำทุกวัน
          ๒. การตรวจสอบประจำ (Routine inspection) เป็นการตรวจสอบโครงสร้างหลักของทางพิเศษ เช่น การกะเทาะ การแตกร้าวของโครงสร้างคอนกรีต การตรวจสภาพของน๊อตยึดโครงสร้างเหล็ก การตรวจสอบสภาพของลวดขึงของโครงสร้างสะพานพระราม ๙ การเสื่อมสภาพของป้ายจราจร หมุดสะท้อนแสง ตรวจสภาพอุปกรณ์ที่ตู้จ่ายไฟ ความเข้มของการส่องสว่างของไฟฟ้าบนทางพิเศษรวมทั้งอุปกรณ์เก็บค่าผ่านทาง โทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เป็นประจำ ตามแผนงานในแต่ละปี
          ๓. การตรวจสอบพิเศษ (Special inspection) ตรวจสอบสภาพโครงสร้างทางพิเศษนอกเหนือจาก การตรวจสอบรายวันและการตรวจสอบประจำ ด้วยวิธีการที่ซับซ้อนขึ้น เช่น
- การทดสอบความเป็นด่างของโครงสร้างคอนกรีต (Carbonation Test)
- การตรวจสอบสภาวะการเกิดสนิมเหล็ก (Corrosion Test)
- การตรวจสอบรอยร้าวด้วย (Ultrasonic Test)
- การวัดค่าความฝืดของผิวจราจร (Skid Resistant Test)
- การตรวจสอบสภาพโพรงของพื้นทางด้วย (Ground Penetration Radar)
- การตรวจสอบสภาพความแข็งแรงของโครงสร้างสะพานพระราม ๙ เป็นต้น
การบำรุงรักษาและซ่อมแซมทางพิเศษ
          งานบำรุงรักษาและซ่อมแซม ได้ดำเนินการใน ๓ ลักษณะ ดังนี้
          ๑. การบำรุงรักษาแบบปกติ (Routine maintenance) ได้แก่ การทำความสะอาดเครื่องหมายจราจร ป้ายจราจร ระบบระบายน้ำพื้นผิวจราจร โคมไฟฟ้าส่องสว่าง การเปลี่ยนแผ่นป้ายจราจรเมื่อหมดสภาพการใช้งาน การทาสีราวเหล็ก และการซ่อมแซมเล็กๆน้อยๆเป็นประจำตามแผนงาน เป็นต้น
          ๒. การบำรุงรักษาแบบแก้ไข (Corrective maintenance) ขึ้นอยู่กับสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เช่น การบูรณะปรับปรุงผิวจราจร รอยต่อผิวจราจร และรอยต่อกำแพงกันตก การฉาบรอยกะเทาะ และซีลรอยแตกร้าวของโครงสร้างคอนกรีต การเปลี่ยนทดแทนหลอดไฟ สายไฟฟ้าส่องสว่าง การซ่อมแซมอุปกรณ์เก็บค่าผ่านทาง ระบบโทรศัพท์ฉุกเฉิน ป้ายเปลี่ยนข้อความได้ (VMS) และป้ายควบคุมการจราจรตามช่องทาง (Matrix Sign) ที่ชำรุด เป็นต้น
          ๓. การบำรุงรักษาแบบฉุกเฉิน (Urgent maintenance) เมื่อมีความเสียหายจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เพลิงไหม้ สารเคมีต่างๆ เป็นต้น โดยจะทำการบำรุงรักษาแบบฉุกเฉินเบื้องต้น เพื่อให้การจราจรบนทางพิเศษสามารถเคลื่อนตัวได้อย่างสะดวก และทำการบำรุงรักษาแบบฉุกเฉินอย่างถาวร เพื่อให้โครงสร้างและส่วนประกอบของทางพิเศษที่ได้รับความเสียหายกลับไปสู่สภาพปกติ
โครงการต่างๆในงานบำรุงรักษาทางพิเศษ
๑. งานที่ดำเนินการในปี ๒๕๕๑ ถึงปัจจุบัน ที่แล้วเสร็จ
งานบำรุงไฟฟ้าสายทางและงานระบบ
          - งานรื้อย้ายพร้อมติดตั้งเสาไฟ High Mast ทางพิเศษฉลองรัช จำนวน ๑ ต้น บริเวณด่านอาจณรงค์ ๒
          - งานบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าส่องสว่างของทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี
          - งานปรับปรุงระบบเครือข่ายทางพิเศษบูรพาวิถี
งานปรับปรุงผิวจราจรบนทางพิเศษเพื่อยืดอายุการให้บริการและเพื่อความปลอดภัย
          - งานปรับปรุงความลาดชันทางขึ้น-ลง ทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษบูรพาวิถี เพื่อลดการกระแทกของยานพาหนะอันเนื่องมาจากการทรุดตัวของดิน
          - งานบูรณะผิวจราจรรวมรอยต่อทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณวัดสะพานสูง
          - งานฉาบผิวจราจรด้วยวิธี Para Slurry Seal เพื่อเพิ่มความฝืดให้กับผิวจราจรทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณจากวัดสะพานสูงต่างระดับท่าเรือ และทางพิเศษฉลองรัช บริเวณพระราม ๙ - อาจณรงค์
งานเพิ่มความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุ
          - งานติดตั้งหมุดลูกแก้วสะท้อนแสงเพื่อเสริมทัศนวิสัยในการมองเห็นในเวลาฝนตก ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี
          - งานติดตั้งไฟกระพริบหัวเกาะทางลง ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี
งานรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
          - งานติดตั้งกำแพงกั้นเสียงบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร เพื่อลดผลกระทบต่อการเรียนการสอน บริเวณโรงเรียนพูนสิน
          - งานสนับสนุนชุมชนเพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัยของชุมชน บริเวณใกล้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร
๑.) โครงการติดตั้งหัวจ่ายน้ำดับเพลิง จำนวน ๖ บริเวณ
๒.) โครงการจัดซื้อถังดับเพลิง จำนวน ๑๒ บริเวณ (อยู่ระหว่างการส่งมอบให้กับชุมชน)
๒. งานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
งานบำรุงไฟฟ้าสายทางและงานระบบ
          - งานเทคอนกรีต Duch Bank หุ้มสายไฟฟ้าใต้ดิน ทางพิเศษบูรพาวิถี
          - งานเทคอนกรีตหุ้มท่อร้อยสาย และติดตั้งกล่องปิด SAFETY SWITCH ทางพิเศษบูรพาวิถี
          - งานซ่อมและบำรุงรักษาไฟฟ้าส่องสว่างไฟ High Mast ทางพิเศษฉลองรัชและไฟส่องใต้ทาง ทางพิเศษบูรพาวิถี
          - งานติดตั้งระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษฉลองรัช  ทางพิเศษสายรามอินทรา - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และทางพิเศษบูรพาวิถี
          - งานปรับปรุงป้ายจำกัดความเร็ว (Matrix Sign) ทางพิเศษฉลองรัช
          - งานปรับปรุงระบบตรวจสภาพปริมาณการจราจร
งานปรับปรุงผิวจราจรบนทางพิเศษเพื่อยืดอายุการให้บริการและเพื่อความปลอดภัย
          - งานบูรณะผิวจราจรรวมรอยต่อทางพิเศษเฉลิมมหานคร
งานเพิ่มความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุ
          - งานปรับปรุงค่าความสว่างของเครื่องหมายจราจร เพื่อให้มองเห็นได้ไกลขึ้นจากระยะเดิม ๑๕ เมตร เป็น ๓๐ เมตร ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี
          - งานปรับปรุงความชัดเจนป้ายแนะนำจราจรทางพิเศษเฉลิมมหานคร
          - งานติดตั้งอุปกรณ์ดูดซับแรงปะทะ (Crash Cushion) จำนวน ๓ บริเวณ (คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายน ๒๕๕๒)
งานวิศวกรรมบำรุงรักษาอื่น ๆ
          - งานเสริมกำลังโครงสร้าง URIB STIFFENER สะพานพระราม ๙
          - งานบูรณะสีภายนอกโครงสร้างสะพานพระราม ๙ เนื่องจากใช้งานมานานกว่า ๑๐ ปี
          - งานบูรณะรอยต่อเพื่อการยืดหดและขยายตัวของสะพานพระราม ๙ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น
          - งานจ้างสถาบัน AIT ศึกษาวิธีเสริมกำลังให้กับฐานรากของทางพิเศษบูรพาวิถี
งานรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
          - งานติดตั้งกำแพงกั้นเสียงบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร เพื่อลดผลกระทบต่อผู้พักอาศัยใกล้ทางพิเศษ บริเวณระดับดินพระราม ๔  และบริเวณทางขึ้นด่านฯ ท่าเรือ ๒