โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี คืบหน้า กทพ. จับมือ บ.โชติจินดาฯ และ…

โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี คืบหน้า กทพ. จับมือ บ.โชติจินดาฯ และ บ.เอพซิลอนฯ ลงนามสัญญางานจ้างผู้ให้บริการออกแบบรายละเอียดแล้ววันนี้

วันนี้ (5 ตุลาคม 2563) เวลา 13.30 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญางานจ้างผู้ให้บริการออกแบบรายละเอียด โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอพซิลอน จำกัด ณ ห้องประชุม 2301 ชั้น 3 อาคาร 2 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ ถนนพหลโยธิน

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครนายก และจังหวัดสระบุรี จะใช้ถนนพหลโยธิน และ ถนนรังสิต-นครนายก เป็นเส้นทางหลัก ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณการจราจรหนาแน่น เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักสู่ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ตลอดแนวเส้นทาง นอกจากนั้นเส้นทางดังกล่าว ยังมีปริมาณรถบรรทุกขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความล่าช้า ในการเดินทาง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดและช่วงเทศกาลจะเกิดปัญหาการจราจรติดขัดตลอดแนวเส้นทาง ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว กทพ. จึงได้วางแผนการต่อขยายโครงข่ายทางพิเศษฉลองรัชไปยังจังหวัดนครนายก และจังหวัดสระบุรี เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว และเป็นการเพิ่มโครงข่ายถนนเพื่อแบ่งเบาปริมาณจราจรบนถนนปัจจุบัน อีกทั้งยังจะช่วยในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครนายก และจังหวัดสระบุรี โดยโครงการจะมีระยะทาง 104.7 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ทิศทางละ 3 ช่องจราจร) มีทิศทางเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านฯ จตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) แนวเส้นทางจะไปทางทิศตะวันออกตัดผ่านถนนหทัยราษฎร์และถนนนิมิตใหม่ จากนั้นเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตัดผ่านถนนลำลูกกา บริเวณ กม. 22+500 ทางหลวงชนบท นย. 3001 ถนนรังสิต-นครนายก บริเวณ กม. 59+800 แล้วขึ้นไปทางทิศเหนือ ตัดผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 (ถนนสุวรรณศร) บริเวณ กม. 116+000 และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3222 จากนั้นแนวเส้นทางจะขนานไปตามทางหลวง แผ่นดินหมายเลข ๓๒๒๒ เชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) และทางเลี่ยงเมืองสระบุรี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 362) ด้านตะวันออก สิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) ที่บริเวณ กม. ๑๐+๗๐๐ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี มีทางขึ้น-ลง 9 แห่ง คือ 1. ถนนวงแหวนรอบนอกฯ 2. ถนนหทัยราษฎร์ 3. ถนนลำลูกกา 4. ทางหลวงชนบท นย. 3001 (องครักษ์) 5. ถนนรังสิต-นครนายก (บางอ้อ) 6. ถนนสุวรรณศร (บ้านนา) 7. ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) 8. ทางเลี่ยงเมืองสระบุรี 9. ถนนมิตรภาพ และมีจุดพักรถ (Rest Area) 1 จุด บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบางอ้อ

“สัญญางานจ้างผู้ให้บริการออกแบบรายละเอียดโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ในครั้งนี้จะแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 บริเวณจุดเชื่อมต่อโครงการจากทางพิเศษฉลองรัชถึงนครนายก และระยะที่ 2 จากนครนายกถึงสระบุรี โดยมีค่าจ้างให้บริการ ออกแบบรายละเอียด จำนวน 380 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 540 วัน ทั้งนี้ โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช – นครนายก – สระบุรี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2565 ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2568 จะช่วยเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และ ประหยัดเวลาแก่ผู้ใช้เส้นทางที่เดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังภาคกลางตอนบน และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ถนนพหลโยธิน และระบบโครงข่ายถนนปัจจุบันที่แนวเส้นทางโครงการตัดผ่าน รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่โครงการ และ ในระดับประเทศ” นายสุรเชษฐ์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด

Comments are closed.