การใช้ดุลพินิจพิจารณาให้ข้อมูลข่าวสาร

จะเห็นได้ว่าข้อมูลข่าวสารที่ห้ามมิให้เปิดเผย เป็นกรณีที่ข้อมูลข่าวสารนั้นเปิดเผยแล้วอาจกระทบเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
พระราชบัญญัติได้กำหนดห้ามไว้โดยมิได้มีข้อยกเว้นให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องใช้ดุลพินิจอีก ดังนั้น การศึกษาในเรื่องแนวทาง
การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐจะศึกษาโดยอาศัยตัวอย่างของข้อมูลข่าวสารที่พระราชบัญญัติกำหนดให้อาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยซึ่งถือได้ว่าเป็นการศึกษาจากกรณีปฎิบัติจริง ทั้งนี้ เมื่อหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับคำขอข้อมูลข่าวสารที่มีลักษณะตามที่พระราชบัญญัติกำหนดซึ่งอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีหน้าที่จะต้องใช้ดุลพินิจเพื่อมีคำสั่งมิให้เปิดเผยหรือใด้เปิดเผยต่อไป

ในการใช้ดุลพินิจ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 วรรคแรก ได้กำหนดแนวทางการใช้ดุลพินิจ โดยให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อจะใช้ดุลพินิจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารหรือมีคำสั่งเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่มีลักษณะตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (1) – (7) ซึ่งได้เสนอรายละเอียดไว้แล้วในข้อ 3.2 จะต้องคำนึงถึง 3 เรื่อง คือ การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะและประโยชน์เอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน หมายความว่าเมื่อมีผู้มาขอข้อมูลข่าวสารตามข้อนี้จะต้องพิจารณาใช้ดุลพินิจ เพื่อชั่งน้ำหนักก่อนมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยอาศัยแนวทางตามที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ข้างต้น กล่าวคือ

1. จะต้องพิจารณาว่า ข้อมูลข่าวสารตามที่มีผู้ขอ หากเปิดเผยแล้วจะกระทบต่อการปฏิบัติงานตามกฎหมายของหน่วยงานของตนหรือไม่อย่างไร เช่น กรมสรรพากรอาจต้องพิจารณาว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่มีผู้ขอ ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายประมวลรัษฏากรหรือไม่ หรือในกรณีที่ข้อมูลข่าวสารตามที่มีผู้ขออาจเกี่ยวข้องกับการสอบสวนเรื่องหนึ่งเรื่องใด ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ เป็นต้น ก็จะต้องพิจารณาว่าถ้าเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแล้วจะส่งผลต่อการพิจารณาเรื่องนั้น ๆ หรือไม่

2. จะต้องพิจารณาว่า ข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ขอ หากเปิดเผยแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือสังคมโดยส่วนรวมหรือไม่เพียงใด ทั้งนี้ เพื่อจะได้สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจหรือการใช้ดุลพินิจได้เหมาะสมถูกต้องที่สุด กล่าวคือ ในกรณีที่ข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ขอ เป็นข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวพันกับสังคมโดยส่วนรวม การเปิดเผยให้สังคมโดยส่วนรวมได้รู้ก็จะช่วยให้สาธารณชนทราบว่า เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้มีการดำเนินการไปอย่างไร โปร่งใสมีประสิทธิภาพหรือไม่ แม้ว่าการเปิดเผยอาจกระทบต่อบุคคลบางคน แต่หากมีความชัดเจนว่า การเปิดเผยนั้นจำเป็นสำหรับสาธารณชนหรือคนโดยส่วนใหญ่ก็ต้องต้องมีดุลพินิจให้เปิดเผย

3. จะต้องพิจารณาว่า ข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ขอเป็นสิ่งจำเป็นหรือกระทบต่อเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างไรและมากน้อยเพียงใด การพิจารณาถึงเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ที่ขอข้อมูลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับตัวเนื้อหาข้อมูลที่มีผู้ขอให้เปิดเผย ฯลฯ โดยต้องพิจารณาถึงความจำเป็นของผู้ขอข้อมูลว่า ข้อมูลข่าวสารที่ขอนั้นเกี่ยวข้องกับการรักษาสิทธิของผู้ขอข้อมูลมากน้อยเพียงใด การไม่ได้ข้อมูลข่าวสารตามที่ขอนั้นจะกระทบต่อการปกป้องสิทธิของผู้ขอมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ หากมีน้ำหนักของส่วนได้เสียและความจำเป็นสูงมากก็มีน้ำหนักที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบการใช้ดุลพินิจในขั้นสุดท้าย นอกจากนี้ในส่วนของเอกชนที่เกี่ยวข้องที่เป็นบุลคลที่สาม การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ขออาจกระทบต่อส่วนได้ส่วนเสียของบุคคลที่สามจึงต้องมีการพิจารณาด้วยเช่นกันว่า บุคคลที่สามจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนี้มากน้อยเพียงใด จะสามารถป้องกันผลกระทบโดยการปิด ลบข้อมูลบางส่วนได้หรือไม่ และข้อที่หยิบยกมาพิจารณานี้เป็นเรื่องที่กฎหมายให้ความคุ้มครองหรือไม่ ซึ่งหากมีข้อมูลชัดเจนก็จะทำให้สามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างเหมาะสม เช่น อาจเปิดเผยโดยปิดทับชื่อ หรือสิ่งที่ทำให้รู้ตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นพยาน เป็นต้น

Comments are closed.